วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กุศลกรรมบถ ๑๐ (กายสุจริต 3 วจีสุจริต 4. มโนสุจริต 3)

กุศลกรรมบถ ๑๐

            ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง 
            ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย 
            ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม 

       ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก 

            ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ 
            ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด 
            ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ 
            ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ 

       ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก 

            ๘. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา 
            ๙. อพยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา 
            ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม 

       ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก

คำว่า กุศลกรรมบถ แปลได้ ๒ นัย

       ๑. แปลว่า ทางเกิดแห่งกุศลกรรมที่ส่งผลในปฏิสนธิกาลได้ 
       ๒. แปลว่า กุศลกรรมที่เป็นเหตุเกิดในสุคติภูมิ และความสุขในสุคติภูมินั้น 

       กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ทรงแสดงไว้ในพระสูตรมากมาย เฉพาะในอังคุตตรนิกาย มีอยู่หลายสูตร มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ดังนี้ 

            ในสาธุสูตร เรียกว่า สาธุธรรม (ธรรมดี) 

            ในอริยธรรมสูตร เรียกว่า อริยธรรม (ธรรมของอารยชน) 

            ในกุศลสูตร เรียกว่า กุศลธรรม (ธรรมที่ทำลายความชั่ว) 

            ในอรรถสูตร เรียกว่า อรรถธรรม (ธรรมที่มีประโยชน์) 

            ในสาสวสูตร เรียกว่า อนาสวธรรม (ธรรมที่ไม่มีกิเลส) 

            ในวัชชสูตร เรียกว่า อนวัชชธรรม (ธรรมที่ไม่มีโทษ) 

            ในตปนียสูตร เรียกว่า อตปนียธรรม (ธรรมที่สร้างความร่มเย็น) 

            ในอาจยคามิสูตร เรียกว่า อปจยคามิธรรม (ธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์)
 

            ในสาเลยยกสูตร ปัญจมวรรค แห่งมูลปัณณาสถ์ ทรงเรียกว่า ธรรมจริยสมจริยา 

            ธรรมจริยา แปลว่า การประพฤติที่เป็นธรรม 

            สมจริยา แปลว่า การประพฤติกรรมที่ถูกต้อง 

       ทรงแสดงผลดีที่จะพึงได้รับ
 จากการประพฤติธรรม และการประพฤติกรรมที่ถูกต้องนี้ว่า ใครปรารถนาอะไร ? จะเป็นมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ พรหมสมบัติ มรรค ผล และนิพพาน ล้วนสำเร็จสมประสงค์ทั้งสิ้น ดังข้อความในสาเลยยกสูตรว่า 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายจากโลกนี้แล้ว ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งธรรมจริยาและสมจริยา ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ 

       ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ คือ 

       ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ละการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป
 เว้นขาดจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้มีท่อนไม้และศัสตราอันวางแล้ว มีความละอายประกอบด้วยความเอ็นดู เป็นผู้เกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก 

       ๒. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์ของผู้อื่น จะอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าก็ตาม ย่อมเป็นผู้ไม่ถือเอาทรัพย์นั้นที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยจิตคิดขโมย 

       ๓. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ ดังนี้แล 

       ธรรมจริยา และสมจริยา ทางวาจามี ๔ คือ 

       ๑. บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ละมุสาวาท
 เว้นขาดจากมุสาวาท ไปในสภาก็ดี ในบริษัทก็ดี ในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ในท่ามกลางเสนาก็ดี ในท่ามกลางแห่งราชตระกูลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า แน่ะพ่อชาย ท่านจงมา ท่านรู้อย่างไร จงเบิกอย่างนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ ก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ หรือรู้อยู่ก็บอกว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น หรือเห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าเห็น ย่อมไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง 

       ๒. เป็นผู้ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากกล่าวส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนทั้งหลายที่แตกกันแล้ว หรือสนับสนุนหมู่คนที่สามัคคีกันอยู่แล้ว เป็นผู้มีความชื่นชมยินดีในหมู่คนผู้สามัคคีกัน เป็นผู้กล่าววาจาที่ทำให้คนสามัคคีกัน 

       ๓. เป็นผู้ละคำหยาบ เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รักจับใจ เป็นคำสุภาพ เป็นที่ชอบใจ พอใจของคนจำนวนมาก 

       ๔. เป็นผู้ละการกล่าวเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการกล่าวเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูด พูดคำจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ไม่พูดมาก พูดแต่คำที่มีประโยชน์ 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางวาจามี ๔ อย่างนี้แล 

       ธรรมจริยาและสมจริยา ทางใจมี ๓ อย่าง คือ 

       ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากไปด้วยความไม่เพ่งเล็ง
 ไม่ละโมบอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน 

       ๒. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น คิดแต่ในทางที่ดีว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด 

       ๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดามีบุญคุณ บิดามีบุญคุณ โอปปาติกะมีจริง สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้ามีจริง 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางใจมี ๓ อย่างนี้แล 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะการประพฤติธรรม และการประพฤติกรรมอันชอบเหล่านี้แล 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติธรรมและประพฤติกรรมอันชอบ พึงหวังว่า หลังจากที่เราตายแล้ว 

            ๑. พึงเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล
            ๒. พราหมณ์มหาศาล
            ๓. เทวดาชั้นจาตุมมหาราช
            ๔. เทวดาชั้นดาวดึงส์ 
            ๕. เทวดาชั้นยามา
            ๖. เทวดาชั้นดุสิต 
            ๗. เทวดาชั้นนิมมานรดี
            ๘. เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
            ๙. พรหมชั้นพรหมปาริสัชชา
            ๑๐. พรหมชั้นพรหมปุโรหิตา 
            ๑๑. พรหมชั้นมหาพรหมา
            ๑๒. พรหมชั้นปริตตาภา
            ๑๓. พรหมชั้นอัปปมาณาภา
            ๑๔. พรหมชั้นอาภัสสรา
            ๑๕. พรหมชั้นปริตตสุภา
            ๑๖. พรหมชั้นอัปปมาณสุภา 
            ๑๗. พรหมชั้นสุภกิณหา
            ๑๘. พรหมชั้นอสัญญีพรหม 
            ๑๙. พรหมชั้นเวหัปผลา 
            ๒๐. พรหมชั้นอวิหา
            ๒๑. พรหมชั้นอตัปปา 
            ๒๒. พรหมชั้นสุทัสสา
            ๒๓. พรหมชั้นสุทัสสี 
            ๒๔. พรหมชั้นอกนิฏฐา 
            ๒๕. อรูปพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ
            ๒๖. อรูปพรหมชั้นวิญญาณัญจายตนะ 
            ๒๗. อรูปพรหมชั้นอากิญจัญญายตนะ
            ๒๘. อรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
 

       การบรรลุเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติในชาติปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปได้ ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติธรรมและเป็นผู้ประพฤติกรรมอันชอบ 

       พระสูตรนี้แสดงว่า บุคคลผู้ปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จะปรารถนามนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติและนิพพานสมบัติ ก็ตาม ล้วนสมประสงค์ทั้งนั้น 

       มนุษยสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับกษัตริย์มหาศาล และพราหมณ์มหาศาล 

       สวรรคสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นจาตุม-มหาราช จนถึงอรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ 

       นิพพานสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า การบรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

กุศลกรรมบถ ๑๐

ทำให้ได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ

       กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จัดว่าเป็นศีล บุคคลผู้รักษาศีล กระทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ย่อมได้รับอานิสงส์ ดังนี้ 

            ๑. สีเลน สุคตึ ยนฺติ คนทั้งหลายไปสู่สุคติได้ เพราะศีล 
            ๒. สีเลน โภคสมฺปทา คนทั้งหลายถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ เพราะศีล 
            ๓. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ คนทั้งหลายบรรลุนิพพานได้ เพราะศีล 

       ศีลเป็นเหตุให้ได้ไปสู่สุคตินั้น หมายถึง ให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ๑ กามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น เพราะผลของกุศลกรรมบถโดยตรง และพรหมโลก ๒๐ ชั้น เพราะผลของกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย 

       ส่วนศีลเป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน หมายถึง ทรงแสดงศีลโดยความเป็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุอรหัตตผล ๒ ประเภท คือ เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

อุปนิสัยมี ๓ อย่าง

       ๑. ทานูปนิสัย อุปนิสัยคือทาน การเสียสละ 
                          คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมกำจัดความโลภหรือทำความโลภให้เบาบางได้ 

       ๒. สีลูปนิสัย อุปนิสัยคือศีล การเว้นจากเบียดเบียนสัตว์อื่น 
                          คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมไม่มีการเบียดเบียนสัตว์อื่น 

       ๓. ภาวนูปนิสัย อุปนิสัยคือภาวนา การสั่งสมความดี 
                          คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมเพียรพยายาม เพื่อทำความดีให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป 

       กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ จัดเป็นศีล ดังนั้น จึงเป็นสีลูปนิสัย ที่จะช่วยสนับสนุนให้ได้บรรลุสมาธิ ปัญญาและวิมุตติ ตามพระบาลีว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส แปลว่า สมาธิที่ถูกบ่มด้วยศีล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อธิบายว่า บุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ เมื่อบำเพ็ญสมาธิ ย่อมสามารถทำฌานให้เกิดได้ง่าย ครั้นได้ฌานแล้ว ตายไป ย่อมเกิดเป็นพรหม อย่างนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในพรหมโลก 

       ส่วนผู้ได้ฌานบางท่าน ทำฌานให้เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา ย่อมรู้แจ้งเห็นจริงได้ง่าย ตามพระบาลีว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา แปลว่า ปัญญาที่ถูกบ่มด้วยสมาธิ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก 

       จิตของบุคคลผู้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ตามพระบาลีว่า ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวา แปลว่า จิตที่ถูกอบรมด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ โดยชอบ อย่างนี้ ชื่อว่ากรรมบถ เป็นเหตุให้ได้บรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ 

       สีลูปนิสัย คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นเหตุให้บุคคลได้บรรลุฌาน มรรค ผล และนิพพาน ดังพรรณนามาฉะนี้ เปรียบได้กับส่วนของต้นไม้ สีลูปนิสัย เป็นเสมือนรากไม้ สมาธิ เป็นเสมือนลำต้น ปัญญา เป็นเสมือนกิ่งก้านและใบ วิมุตติ ความหลุดพ้น เป็นเสมือนดอกและผลของต้นไม้ 

       ศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้มนุษยสมบัติ สวรรค-สมบัติ และนิพพานสมบัติ ตามขั้นตอนดังได้อธิบายมานี้

อธิบายกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยอาการ ๕

       ๑. โดยธรรม คือ โดยสภาวธรรม 

       กุศลกรรมบถ ๗ คือ 

             ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี 
             ๒. อทินนาทานา เวรมณี 
             ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี 
             ๔. มุสาวาทา เวรมณี 
             ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี 
             ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี 
             ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี
 

       แม้มีชื่อต่างกันก็จริง แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ เจตนา หรือวิรัติ หมายความว่า ถ้าไม่ตั้งใจจะงดเว้น หรือไม่มีการงดเว้น กรรมบถทั้ง ๗ นี้ ย่อมสำเร็จไม่ได้เลย 

       มโนกรรม ๓ คือ อนภิชฌา โดยสภาวธรรม ได้แก่อโลภะ อพยาบาท โดยสภาวธรรม ได้แก่อโทสะ สัมมาทิฏฐิ โดยสภาวธรรม ได้แก่อโมหะ ที่ประกอบด้วยเจตนา 

       ๒. โดยโกฏฐาสะ คือ โดยส่วนแห่งธรรมต่าง ๆ 

       กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรม ๓ อย่าง มีอนภิชฌา อพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ เป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น เพราะทั้ง ๓ นี้ ก็คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นกุศลมูลนั่นเอง 

       ๓. โดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ใจเข้าไปยึดแล้ว เป็นเหตุให้งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า อารมณ์แห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นแหละ เป็นอารมณ์แห่งกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เปรียบเหมือนน้ำที่สามารถทำให้เรือลอยก็ได้ ทำให้จมลงก็ได้ 

       ๔. โดยเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ และเฉย ๆ พระอรรถกถา-จารย์ อธิบายว่า ในขณะทำกุศล ทุกขเวทนา คือ ความเสียใจ ความไม่สบายใจ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะประพฤติกุศลกรรมบถ จึงมีเพียงเวทนา ๒ คือ สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา 

       ๕. โดยมูล คือ โดยกุศลมูล ๓ อย่าง ได้แก่ อโลภมูล ๑ อโทสมูล ๑ อโมหมูล ๑ 

       กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ที่บุคคลประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๓ คือ อโลภมูล อโทสมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล 

       อนภิชฌาที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโทสมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโทสมูล 

       อพยาบาทที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโลภมูล 

       สัมมาทิฏฐิ มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล

อานิสงส์ของกุศลกรรมบถ ๑๐

       กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในจุนทสูตร ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ? ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคน ในโลกนี้ 

       ๑. เป็นผู้ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความสะอาดใจ มีความเอ็นดู มีความเมตตากรุณา ต่อสัตว์ทุกหมู่เหล่า 

       ๒. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตอันเป็นขโมย ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขา อยู่ในป่า หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม 

       ๓. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร 

       ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง มีอะไรบ้าง ? ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคน ในโลกนี้ 

       ๑. เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลาง หมู่ญาติ อยู่ในท่ามกลางเสนา หรืออยู่ในท่ามกลางราชสำนัก ก็ตาม ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า พ่อชายผู้เจริญ พ่อรู้อย่างไร ? จงเบิกความอย่างนั้น ผู้นั้น เมื่อไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็น ก็บอกว่าเห็น จะไม่เป็นผู้กล่าวมุสาวาท ทั้งที่รู้ตัว เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง 

       ๒. เป็นผู้ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ฟังฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายคนฝ่ายนี้ หรือฟังฝ่ายโน้นแล้ว ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายคนฝ่ายโน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกสามัคคี และสนับสนุนคนที่สามัคคีกันอยู่ ชื่นชมยินดีคนที่สามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่สร้างความสามัคคี 

       ๓. เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้พูดแต่วาจาอันไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก ซึ้งใจ เป็นคำพูดของผู้ดี เป็นที่รักและชอบใจของคนทั่วไป 

       ๔. เป็นผู้ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ เป็นผู้พูดถูกกาลเวลา พูดแต่คำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงวินัย พูดถ้อยคำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยสมควรแก่เวลา 

       ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ? ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้ 

       ๑. เป็นผู้ไม่มากไปด้วยความเพ็งเล็ง ไม่เพ็งเล็งคิดเอาของผู้อื่น มาเป็นของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ? ทรัพย์ของผู้อื่นนั้น จะพึงเป็นของเรา 

       ๒. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท มีใจไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่นว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงอย่าจองเวรกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความทุกข์ จงมีแต่ความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด 

       ๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีทัศนะอันไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดา บิดา มีบุญคุณต่อบุตรธิดาจริง โอปปาติกสัตว์มีจริง สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งประจักษ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าแล้ว สั่งสอนผู้อื่นมีจริง 

       ดูก่อนจุนทะ กุศลกรรมบถมี ๑๐ ประการ ดังนี้แล ดูก่อนจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ ลุกขึ้นจากที่นอน แต่เช้าตรู่ จะจับต้องแผ่นดิน โคมัยสด หญ้าอันเขียวขจี หรือไม่จับต้องก็ตาม จะประนมไหว้พระอาทิตย์ หรือไม่ก็ตาม จะลงอาบน้ำเช้าเย็นหรือไม่ก็ตาม จะบูชาไฟ หรือไม่บูชาไฟก็ตาม ย่อมเป็นผู้สะอาดอย่างแท้จริง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ดูก่อนจุนทะ เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นพฤติกรรมอันสะอาดและเป็นเครื่องสร้างพฤติกรรมอันสะอาด ดูก่อนจุนทะ เทวคติ มนุษยคติ หรือสุคติอื่นใด บรรดามี ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งการประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้แลhttp://www.gongtham.net/my_data/luksut/winai_ek/6vin_40.html

 

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีสู้กามราคะ

วิธีสู้กามราคะ

- ขั้น.ผัสสะ  ถ้าเห็นรูป  สักแต่ว่าเห็น  กำหนัดไม่เกิด

- ....เวทนา  ถ้าไม่สักว่าเห็น  เกิดรู้สึกชอบ  สักแต่ว่าชอบ  ทุกข์จะไม่เกิด

- ....ตัณหา  ถ้าอชไม่หยุด กลายเป็นตัณหา จำลำบาก  ถ้าหยุดได้  ทุกข์จะไม่เกิด

-..อุปาทาน  เห็นรูปไม่หยุด เกิดตัณหา ไม่ได้กลายเป็นอุปาทาน 

จะกลายเป็นนึกคิดปรุงแต่งต่อ จะจบด้วยทุกข์  จะเป็น  ภพ  ชาติ ชรา  มรณะ  ก็วนตรงนี้เรื่อย ๆ
กล่าวโดยสรุป..เมื่ออดีตเป็นเหตุ           ปัจจุบันเป็นผล

                        ปัจจุบันเป็นเหตุ             อนาคตเป็นผล

                    ถ้าเราไม่อยากทำสิ่งใดที่เราคิดว่าไม่ดี  ก็พยายามอย่านึกคิดปรุงแต่งในสิ่งนั้น ๆ
ให้หยุดที่ขั้นผัสสะ  ลองสังเกตุดู อดีตที่ผ่านมาก็ใช้  เพราะเรานึกคิดปรุงแต่งจึงส่งผลให้เรา
หยุดได้  คือสักแต่ว่า..ไม่นึกคิดปรุงแต่งต่อ  อนาคต  เราก็จะสามารถไม่ต้องทำ ในสิ่งที่ไม่ดีได้แน่นอน

 

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของวิปัสสนาญาณ (ต่อ)

อันดับแรก  เอาอทิสมานกายยกใจขึ้นไปที่พระจุฬามณีเจดียสถาน พอไปถึงที่นั่นแล้วจะเห็นว่า  กายใจในที่นั้นมันเป็นนามธรรม  เทวดาหรือพรหมทั้งหมดเป็นกายนามธรรม  พระอริยเจ้าที่เราเห็นเป็นนามธรรม  ทุกคนไม่ปวดไม่เมื่อย  ไม่ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ  ไม่มีอะไรทั้งหมด  สบายทุกอย่าง  โรคภัยไข้เจ็บไม่มี  และถ้าเราไปด้วยกำลังที่หนักแน่น  มันก็ไม่เจ็บไม่ปวดไม่เมื่อยเหมือนกัน  การไปก็คล่องตัว  นึกปั๊บเดียวมันก็ถึง นี่กำไรในการที่ไม่มีขันธ์ 5

                                ถ้าเราจากที่นั้นไป  ถ้าเราจะไปพรหมนึกปั๊บเดียว  แค่นึกก็ถึงพรหม  ไปเห็นสภาพของพรหมมีความสุขสงัดคำว่าแก่ไม่มี  คำว่าป่วยว่าตายไม่มี  นอกจากวาระมันจะถึงมันก็เคลื่อนไป ต่อไปถ้าไปถึงพระนิพพาน  เราก็เหยียดหยามทั้งหมด ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก  เพราะที่นั้นเป็นแดนที่เต็มไปด้วยความสุขจริง ๆ แล้วเรามองลงมาดูข้างล่าง  ถึงนิพพานก็ได้  ถึงเทวดาหรือพรหมก็ได้  มองมาดูมนุษย์  ถ้ามองมาดูมนุษย์แล้วก็จะเห็นสภาพของเมืองมนุษย์ที่มันเต็มไปด้วยสิ่งที่น่ารังเกียจ  เพราะเกลื่อนกล่นไปด้วยการงาน  มีความสกปรกโสโครกหาที่แน่นอนไม่ได้  ร่างกายที่เราทิ้งไปมันก็เหมือนตอไม้ซึ่งไม่มีประโยชน์  ร่างกายนี่ไม่ช้าก็พัง  สิ่งที่เราจะทรงได้จริง ๆ ก็คือ อารมณ์ที่เราไปสวรรค์  ไปพรหม  ไปพระนิพพาน

                                -วิธีการตัดง่าย ๆ  ก็ใช้กำลังของทิพจักขุญาณ มองดูกายในของเราให้เป็นปกติ เห็นร่างกายเราดูข้างใน  เห็นร่างกายคนอื่น เราก็ดูข้างในอีก  มองลึกเข้าไปเห็นน้ำเหลือง น้ำเลือด  น้ำหนอง  อุจจาระ  ปัสสาวะ  ภายในร่างกายว่ามันเต็มไปด้วยความโสโครก  ตัวนี้เป็นตัวสมถภาวนา

                                สำหรับด้านวิปัสสนาภาวนา  ก็ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่าร่างกายของคนนี้  กายของเราก็ดี  มันไม่ทรงอยู่แค่นี้  ขณะที่ทรงอยู่มันเต็มไปด้วยความสกปรก  ต้องประกอบการงานเหน็ดเหนื่อย  มันก็มีความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาแทรกอยู่เสมอ ทำให้เราป่วยมากขึ้น  นอกจากนั้นร่างกายมันต้องพัง  พังแล้วเราก็อยู่ไม่ได้ เราต้องไป  ก็คิดอย่างนี้เสมอ

                                เห็นหน้าคนเมื่อไร  อย่ามองหน้า  อย่ามองผิว  มองทะลุเข้าไปในท้องเลย ทะลุหนังเข้าหาเนื้อ ทะลุเนื้อเข้าหาตับ ไต ไส้ ปอด  มองต่อไปถึงความแก่  ความป่วย ความตาย  ในที่สุดใจของเรามีความเบื่อหน่ายในกาย   ถ้าใจของเราไม่ต้องการกายเมื่อไร เรียกว่า กายคตานุสสติกรรมฐาน  ท่านเป็นอริยเจ้าเบื้องสูง คือ เป็นพระอรหันต์

                                -วิปัสสนาญาณนี้  ในระยะต้นให้ควบคุมอารมณ์ใจอยู่ในอำนาจของสมถภาวนา ให้นานที่สุดที่จะทรงได้  เมื่อทรงอยู่ได้ด้วยดีแล้ว  ต่อไปก็ใช้อารมณ์สมาธินี้พิจารณาขันธ์ 5  เห็นว่าขันธ์ 5 นี้เต็มไปด้วยความทุกข์  หาความสุขอะไรไม่ได้  แล้วก็สลายตัวไปในที่สุด  เป็นอันว่าขันธ์ 5  นี้  แม้เราจะปรนเปรอขนาดไหนก็ตาม  มันก็ไม่ตามใจเรา  เราไม่ต้องการให้มันแก่  มันก็จะแก่  เราไม่ต้องการให้มันป่วย  มันก็จะป่วย  เราไม่ต้องการให้มันพลัดพรากจากเรา  หรือเราพลัดพรากจากมัน  เราก็ทำไม่ได้  ในที่สุด  เราไม่ต้องการอยากให้ตายมันก็ตาย  ห้ามไม่ได้ ขันธ์ 5  คือร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา  เราไม่มีในร่างกาย  ร่างกายไม่มีในเรา  นี่ว่าโดยย่อ  เราพิจารณาขันธ์ 5 การเจริญวิปัสสนาญาณก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน  แต่ก็รวมอยู่ในขันธ์ 5 ว่าเป็นโทษเป็นทุกข์  จะพิจารณาแบบไหนก็ตาม ถ้าเลยขันธ์ 5 ไปไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

                                -เห็นคนที่เขาเดินผ่านไปผ่านมา  ดูข้างนอกแล้วมองข้างใน  ว่าร่างกายของเขาเต็มไปด้วยความสะอาดหรือเต็มไปด้วยความสกปรก คนสวยที่เขาต้องการประคับ-ประคองกันมันน่าประคับประคองตรงไหน  มันไม่มีอะไรที่ควรแก่การประคับประคองเลย  เพราะสภาวะของเขามีสภาพไม่ต่างกับถุงอุจจาระ  มันเป็นของเหม็น  มันห่ออยู่ข้างใน  ถ้าลักษณะหน้าตาผิวพรรณสวย  ก็นึกว่าเอาผ้าแพรห่ออุจจาระ  ถ้าลักษณะผิวพรรณข้างนอกไม่สวย ก็แสดงว่าเอาผ้าดิบมาห่ออุจจาระ  หรือกระสอบห่ออุจจาระ  คิดถึงความรังเกียจในร่างกายของเราและของเขา  ให้อารมณ์มันทรงตัว  และคิดต่อไปว่า  คนทั้งหลายเราก็ดี  เขาก็ดี  จะทรงสภาพอยู่อย่างนี้หรือ ในที่สุดมันก็ตายหมด  ทำอารมณ์ใจให้ทรงตัวอย่างนี้เป็นปกติอย่าสนใจคำนินทาและสรรเสริญ  อย่าสนใจโลกธรรม 8 ประการ  มันมาอย่างไรก็ให้มันไปอย่างนั้น  อย่าไปยุ่งกับมัน  อย่าถือเป็นสาระเป็นแก่นสาร

                                -เมื่อมาเจริญวิปัสสนาญาณ  ขั้นพิจารณาขันธ์ 5  หรือในอริยสัจ  4  พอมาพิจารณาอารมณ์อย่างนี้เข้า  จิตกลับมีความเบาขึ้น  ความแน่นสนิทน้อยลงไป  ตอนนี้นักเจริญกรรมฐานใหม่ ๆ ที่ยังมีอารมณ์เข้าไม่ถึงมักจะไม่ชอบใจ  คิดว่าอารมณ์สมาธิมีความหนักแน่นน้อยเกินไป  มีความเข้าใจว่าอารมณ์ใจของเราเสื่อมจากความดีไปเสียแล้วก็ได้

                                เมื่ออารมณ์อย่างนี้เกิดขึ้น  จงสร้างความรู้สึกของใจเสียใหม่ให้มันถูกต้องว่า การเจริญพระกรรมฐานเราต้องการอะไรกัน  ความจริงที่ถูก  การเจริญพระกรรมฐานเรามีความต้องการตัดอำนาจของราคะ  ความรักในเพศตัดอำนาจโลภะ  ความปรารถนาอยากได้ทรัพย์สินต่าง ๆ  ตัดอำนาจโทสะและพยาบาท  การจองล้างจองผลาญ  การคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นให้ถึงความพินาศ  ตัดอำนาจของโมหะ  ความหลง  โดยคิดว่าร่างกายนี้มันเป็นของเรา เป็นของเรา  ทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นเรา เป็นของเรา  ถือเราถือเขาเป็นสำคัญ  ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็น  ค่อย ๆ คิด  ค่อย ๆ นึกเห็นตามความจริง  ถ้าเราเห็นตัวเราแล้วก็เห็นบุคคลอื่น  ดูหาความจริงให้พบจนกระทั่งจิตสลด  คิดว่าร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยความสกปรกจริง ๆ  ร่างกายของคนและสัตว์มีทุกข์จริง ๆ  ร่างกายของคนและสัตว์หาความเที่ยงไม่ได้จริง ๆ  มันมีการสลายตัวไปในที่สุด   ไม่มีใครกล้าจะแสดงว่าเราเป็นเจ้าของร่างกายจริงจังโดยการบังคับให้ทรงตัวได้  ในเมื่อร่างกายมันไม่ดีอย่างนี้  เราจะไปเมามันเพื่อประโยชน์ในโลกีย์วิสัยทำไม

                                -เมื่อร่างกายมันเป็นของสกปรก  เป็นของไม่เที่ยง  มีอนัตตาคือสลายตัวไปในที่สุด  จิตก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น  ไม่ผูกพันในรูปกายใด ๆ ทั้งหมด  จะเป็นที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม เห็นว่าไม่เป็นสาระ  หรือว่าไม่เป็นแก่นสาร  มีแต่ความสกปรก  เครื่องประดับที่แต่งกายเป็นของหลอกลวงไม่มีอะไรดี  ผ้าผ่อนท่อนสไบหามาแล้วอย่างดี  สีสดสวย  เดี๋ยวก็ทรุดโทรม  ความจริงนึกว่าสวมแล้วก็เก็บ  จะใช้ใหม่ก็ต้องซัก  ต้องฟอก  นี่แสดงว่ามันสกปรก  เครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ ก็คอยปัดคอยสีขัดเกลา  ทำลายสิ่งสกปรกอยู่เสมอ ทีนี้อะไรมันเป็นของสะอาด  เป็นอันว่าวัตถุก็ดี  สิ่งที่มีชีวิตก็ดีมันก็ของไม่สะอาดทั้งหมด  จิตคิดอย่างนี้ให้มันปกติ  จิตก็ตัดความรักเสียได้  เพราะความรักที่มันเกิด  เราเข้าใจว่ามันดี  เข้าใจว่ามันสวย  เข้าใจว่ามันสะอาด  อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของตัณหา  ดึงไปอบายภูมิ  มีนรกเป็นต้น  การทำลายอารมณ์รักภายในใจเสียได้เป็นอารมณ์วิปัสสนาญาณ  ต้องมีอารมณ์ให้ทรงอยู่เป็นปกติ

                                จงจำไว้ว่า  อารมณ์ใดที่ประกอบไปด้วยความรัก  ประกอบไปด้วยความโลภ  ความโกรธ  และความหลง  อันนั้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่า  เป็นอารมณ์ของดิรัจฉาน ดิรัจฉานก็หมายความว่า  ไปขวาง  คือมันขวางจากความดี  เราจึงควรตัดความโลภด้วยการให้ทาน  ตัดความโกรธด้วยการเจริญพรหมวิหาร  4  ตัดความหลงด้วยการยอมรับนับถือกฎของธรรมดา  ไม่หวั่นไหวในเมื่อร่างกายมันจะเป็นอะไรเกิดขึ้น และจงมีความเคารพในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ  คือเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงด้วยความจริงใจ  เมื่อเคารพแล้วก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน   โดยการพิจารณากายของเราว่าไม่ดี  ไม่มีการทรงตัว  ความรักด้วยอำนาจของตัณหามันก็จะน้อยลงไป หรือไม่ก็หมดลงเลย  ส่วนความโลภ  ให้พิจารณาว่า  จะตะเกียกตะกายไปเพื่อประโยชน์อะไร  เราตายแล้วมันก็ไม่ไปกับเรา และความโกรธอยากจะฆ่าเขา  ก็ให้พิจารณาว่า  เราและเขาก็จะต้องตายเหมือนกัน จะไปฆ่าให้เสียเวลาทำไม  เพราะฆ่าไม่ฆ่ามันก็ต้องตายอยู่แล้วนั่นเอง  ทีนี้ความหลงนั่นเป็นของกู  นี่เป็นของกู  แม้แต่ร่างกายของเรามันยังไม่เป็นของกูเลย  แล้วร่างกายคนอื่น  วัตถุอื่น มันจะเป็นของเราหรือ  วิธีการตัดเขาตัดที่ตรงนี้

                                -ให้พิจารณาเป็นปกติเสมอว่า  ร่างกายมันจะแก่ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ร่างกายมันจะป่วยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ร่างกายมันจะตายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ของรักของชอบใจที่พลัดพรากจากเราไปก็ถือว่าเป็นธรรมดา  ธรรมดามันเป็นอย่างนี้  มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน  ให้คิดเสียว่าเมื่อร่างกายมันพังเมื่อไร  เราไปนิพพานเมื่อนั้น  ตั้งใจไว้เพียงเท่านี้  หากว่าชาตินี้ถ้าไม่สามารถจะไปนิพพานได้  ถ้าอารมณ์ใจท่านเป็นอย่างนี้แล้ว  ดีไม่ดีไปพักอยู่แค่เทวดาหรือพรหมไม่กี่วัน  เพียงแค่พระศรีอาริย์ตรัส  เห็นหน้าพวกท่านเข้า พระพุทธเจ้าท่านจะเทศน์กายคตานุสสติกรรมฐาน  หรือปฏิกูลบรรพฉับพลันทันที  เพราะองค์สมเด็จพระชินสีห์รู้ทุนเดิมของเรา  ถ้าฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระทศพลเพียงกัณฑ์เดียว  อย่างเลวที่สุดได้พระโสดาบัน  ถ้าฟังซ้ำอีกทีก็ได้อรหัตผล  ตัวอย่างก็มีเยอะที่ปรากฎในพระพุทธประวัติ  ดังเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะว่า  พาหิยะ  เมื่อเธอเห็นรูปแล้วจงทำจิตเพียงสักแต่ว่าเห็น  พระพุทธเจ้าตรัสเพียงเท่านี้ ปรากฎว่า  พระพาหิยะสำเร็จพระอรหัตผลพร้อมไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ  ท่านสำเร็จได้อย่างไร  ทั้งนี้เพราะว่ากำลังใจพระพาหิยะพร้อมแล้วที่จะรับคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อฟังก็เกิดความเข้าใจ  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  ความที่ท่านตรัสว่า  พาหิยะ  เธอเห็นรูปแล้วจงทำความรู้สึกแต่เพียงว่าสักแต่ว่าเห็น  ก็หมายความว่า  เธอจงอย่าสนใจในรูป  เมื่อรูปเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้  รูปเป็นทุกขัง  สภาวะของรูปไม่มีการทรงตัว  แล้วก็รูปเป็นอนัตตา  มีการสลายตัวไปในที่สุด  อันนี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณ

                                -พระพุทธเจ้าบอกรูปไม่เที่ยง  รูปเป็นทุกข์ เมื่อรูปไม่เที่ยงก็ทำให้มันเป็นเรื่องของรูป  รูปมันเป็นทุกข์  ก็ให้มันเป็นเรื่องของรูป  ใจเราจงอย่าทุกข์  แล้วก็ในที่สุด  รูปมันเป็นอนัตตา  ก็ให้มันเป็นเรื่องของรูป  สำหรับใจของเราต้องเป็นนิจจัง คือมีอารมณ์เที่ยง  ใจของเราให้มันเป็นสุขัง  คือมีอารมณ์เป็นสุข  ใจของเรามันเป็นอัตตา  คือมีการทรงตัว  ความจริงใจมีสภาพเที่ยง  เราจะเห็นได้ว่าคนและสัตว์ที่ตาย  มันตายแต่กาย  ใจมันไม่ได้ตาย  ถ้าใจมันตายด้วย  การขึ้นสวรรค์  การลงนรก  การเป็นพรหม ไปนิพพานมันก็ไม่มี  สภาพของใจมันเป็นสภาพเที่ยง  เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่มีสภาพไม่รู้จักการสลายตัว  แต่ทว่าเราต้องระมัดระวังใจของเราให้มันมีอารมณ์ผ่องใส  อารมณ์ของใจอย่าให้ขุ่นมัว  เพราะเราจะดีหรือชั่วมันอยู่ที่ใจ  ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า  มีใจประเสริฐสุด  สำเร็จด้วยใจ

                                -ถ้าบุคคลใดใช้ปัญญาหรือสมาธิเป็นเครื่องพิจารณากาย  จะเห็นว่าร่างกายนี้ สภาวะความเป็นจริงมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  เราเองไม่ใช่ร่างกาย  ร่างกายไม่ใช่เรา  มันคนละส่วนกัน  คนที่ตายจากความเป็นคนไปแล้ว  ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง  ไปเป็นพรหมบ้าง  ไปนิพพานบ้าง  ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง  เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง  อย่างนี้เป็นต้น  ทุกคนไม่ได้เอาร่างกายไป  เขาไปแต่อทิสมานกาย   คือกายภายใน  ร่างกายภายนอกเป็นแค่เปลือกนอกเท่านั้น  ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่า  รูปเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ แล้วรูปก็เป็นทุกขัง  มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่ควรยึดถือรูปของเรา  ไม่ควรยึดถือรูปของบุคคลอื่น  เราไม่ควรยึดถืออะไร ๆ ทั้งหมดในโลกว่ามันเป็นเรา  เป็นของเรา ควรทำใจของเราให้ออกห่างจากความปรารถนาในรูป  เมื่อเราตัดอารมณ์รักในรูปทุกอย่างเสียแล้ว  มีความเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  มันเป็นปัจจัยของความทุกข์  ที่ความทุกข์มีเกิดขึ้นมาแก่เราทุกขณะที่มีอยู่ในเวลานี้  เพราะอาศัยร่างกายเป็นเหตุ  เรามีจิตรังเกียจ  คิดว่าไม่ว่ารูปคน  รูปสัตว์  รูปวัตถุ  เป็นปัจจัยของความทุกข์  หาความสุขไม่ได้  เมื่อจิตใจของท่านหลุดลอยในการเกาะรูป  หรือบุคคลใดวางร่างกายภายในคือร่างกายของเราเสียได้ วางร่างกายภายนอกคือกายของบุคคลอื่นเสียได้  วางวัตถุธาตุใด ๆ เสียได้ทั้งหมด  ท่านก็เป็นพระอรหันต์  มันเป็นของไม่ยาก เมื่อตายจากความเป็นคนเมื่อไร  ก็ไปนิพพานเมื่อนั้น

                                -เรื่องของร่างกาย  ถ้าจะพิจารณาโดยใช้อำนาจของปัญญา  เราจะเห็นว่าร่างกายของเราและบุคคลอื่นก็ดี เต็มไปด้วยความสกปรก  ยกตัวอย่างน้ำลายในปาก  ถ้าหากเรายังไม่บ้วนออกมานี่  เราอมไว้  เราไม่รู้สึกรังเกียจ  และแถมกลืนได้  แต่พอบ้วนออกมาแล้วมือไม่กล้าแตะน้ำลายของใคร  น้ำลายของเราเอง อยู่ในปากสะอาด  พอออกมาดันสกปรกเสียได้  และอาหารที่จะกินเข้าไปเราเลือกแล้วเลือกอีก  ถ้าไม่ดีไม่ชอบใจ  ไม่กิน  พอถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ  ไม่เอาเสียแล้ว  นี่เป็นอันว่าร่างกายของคนเรา  ถ้าพิจารณากันไปมันสกปรก  ดังนั้น  เราจะเอาจิตเข้าไปพัวพันร่างกายของบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์อะไร  และแม้แต่ร่างกายของเราก็เหมือนกัน  มันเพียงแต่ว่าเป็นแดนสำหรับที่เราอาศัยเท่านั้น  เราจะไม่หลงใหลใฝ่ฝันในรูปกายจนเกินสมควร  และก็รู้อยู่เสมอว่าร่างกายของเราสกปรก  ร่างกายของคนอื่นก็สกปรก  มันสกปรกไม่สกปรกเปล่า  ในที่สุดมันก็พังทลายเหมือนผีตายทั้งหลายนั่นแหละ ความจริงเราต้องการความสะอาด  เราไม่ต้องการความสกปรก  เมื่อจิตของเราเห็นว่า  อัตภาพร่างกายของเราก็ดี  ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีสกปรก  ความรักความปรารถนา ความใคร่มันก็หมดไป  เพราะว่าไม่มีใครต้องการความสกปรก  นี่เป็นการใช้วิปัสสนาญาณทางหนึ่ง

                                -ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว  อาการอย่างนี้มันไม่ปรากฎจิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า  นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก  การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี  เทวดาก็ดี พรหมก็ดี  เราไม่ต้องการ  หรือว่าการที่จะมีอารมณ์พิสมัยว่า  โลกมนุษย์สวยสดงดงาม  เทวโลก  พรหมโลก  สวยสดงดงาม  มันเป็นที่น่าอยู่  ไม่มีสำหรับเรา  เราต้องการอย่างเดียวคือความดับไม่มีเชื้อ คือสามโลกไม่ต้องการทั้งหมด  จิตที่เราจะพึงกำหนดไว้ก็คือ  ไม่มีกาย  แล้วก็มีพระนิพพานเป็นที่ไป  จึงกล่าวได้ว่า  ความต้องการประคับประคองร่างกายเป็นความโง่ของจิต  ทำไมเราจึงโง่  ที่เราโง่เพราะเรามีนายบังคับ  นายของเรา  4  คน  ปราบยาก  ไม่มีใครสามารถจะปราบให้มันราบคาบได้  นอกจากหนีไป  นาย 4 คนก็คือ  กิเลส  ตัณหา  อุปาทาน  และอกุศลกรรม

                                กิเลส แปลว่าความเศร้าหมองของจิต เรียกง่าย ๆ ว่า ความเลวของจิต

                                ตัณหา  เมื่อความรู้สึกมันเลว  ความต้องการเลวเกิดขึ้น  ตัณหาก็เกิด

                                จิตที่เป็นกิเลส  เห็นของเลวเป็นของดี เห็นของดีเป็นของเลว  มันกลับกัน ชอบของเลว ๆ ชอบของสกปรก เห็นของสกปรกว่าเป็นของสะอาด  อย่างร่างกายคน ร่างกายสัตว์  ไปดูเถอะไม่มีส่วนไหนสะอาดเลย  เต็มไปด้วยน้ำเลือด  น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ  ปัสสาวะ  เสลด  น้ำลาย  ทุกอย่างที่มันมีอยู่ในร่างกาย  ถ้าหลั่งไหลออกมาเราก็รังเกียจทั้งหมด  แต่จิตคิดอยากได้ร่างกายคนอื่นเพื่อร่วมอยู่กับเรามันยังมีอยู่  ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมันโง่  และท่านที่ทำให้เราโง่ก็คือกิเลสที่เป็นนามธรรมมันเสี้ยมสอน

                                -ถ้าเจริญอสุภกรรมฐานแล้วไม่ต้องไปไหนละ  ถ้าเราต้องการสุกขวิปัสสโก  เดินสายเดียวเลย  มันจะมีอารมณ์เข้าจุด  อันดับแรกที่สุดที่จะกระทบหนักก็คือ พระอนาคามี  ทำไมถึงว่าอย่างนั้น  ทำไมไม่บอกว่าต้องเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามีก่อน ความจริงเป็นพระโสดาบัน  สกิทาคามีเหมือนกัน  แต่อารมณ์มันเร็วเกินไป

                                พอจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ  เห็นว่าโลกเป็นทุกข์  โลกเต็มไปด้วยความสกปรก  สมบัติที่เรารักที่สุดก็คือร่างกาย  สกปรกแบบนี้หาความดีอะไรไม่ได้  ทีนี้จิตใจที่มีความต้องการในร่างกายของเราน่ะเกือบไม่มี  ในเมื่อความต้องการร่างกายเราไม่มีแล้ว  เราจะต้องการร่างกายของใคร  ไม่มีหรอก  เรารักตัวเราเองมากที่สุด  ยิ่งกว่ารักคนอื่น  อารมณ์ตัวนี้เป็นอารมณ์ตัดราคะ  เมื่อตัดราคะจริต  มันก็ตัดกามราคะ  ความปรารถนาในกาม  อารมณ์ที่เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า  เป็นพระโสดาบัน  สกิทาคามี ทิ้งไปเลย  มันไปถึงอนาคามีเลย

                                -ชีวิตมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น  มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป  แก่ลงไปในขั้นกลาง  และมีความตายในที่สุด  เมื่อคนเราเกิดแล้วตายเหมือนกันหมด  ธรรมใดที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วตายมี  ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วไม่ตายก็ต้องมีอยู่  เพราะว่าตายแล้วมันก็เกิดใหม่  เกิดแล้วก็มาลำบากลำบนแล้วก็ตาย  ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในตำรา  อยู่กับความจริง ถ้าจิตใจของเราเข้าถึงความเป็นจริง  ก็ชื่อว่าจิตของเราเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า  อันดับแรก  ให้เห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก  อันนี้เป็นสมถภาวนา  ต่อไปเห็นการเกิดและการเสื่อมของร่างกาย  จนกระทั่งมีความเบื่อหน่ายว่าร่างกายสกปรก  เราก็ไม่ชอบใจ  ร่างกายมีความเสื่อม  เราก็ไม่ชอบใจ  ตัวนี้เป็นวิปัสสนาภาวนา  ต่อไปก็ทำจิตวางเฉยในร่างกาย  คือร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี  ตัวนี้เป็นการตัดวิปัสสนาตัวปลาย  เป็นอารมณ์พระอรหันต์  ดังนั้น  เราจะเข้าถึงความดีได้ก็เพราะอาศัยการฝึกฝนตนคือจิต  คำว่าตนในที่นี้ได้แก่จิต ไม่ใช่ร่างกาย คือเอาจิตของเราเข้าไปเกาะความดีเข้าไว้  ธรรมส่วนใดที่จะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้  เราก็ทำส่วนนั้น  ธรรมส่วนสำคัญที่เราจะเห็นได้ง่ายก็คือ  ตัดรากเหง้าของกิเลส  ได้แก่  โลภะ  ความโลภ  เราตัดด้วยการให้ทาน  ทำจิตให้ทรงอยู่เสมอว่า  เราจะให้ทานเพื่อทำลายโลภะ ความโลภ  แล้วความโลภจะได้ไม่เกาะใจ  อีกประการหนึ่ง  รากเหง้าของกิเลสก็ได้แก่ ความโกรธ  เมื่อจิตเราทรงพรหมวิหาร 4 เป็นปกติ  เพื่อเป็นการหักล้างความโกรธ  ความพยาบาทมันก็ไม่มี  ประการที่ 3  โมหะ ความหลง  ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ  เป็นรากเหง้าใหญ่  เป็นตัวบัญชาการให้เกิดความรัก ความโลภ  ความโกรธ  ถ้าหลงไม่มีเสียอย่างเดียว  เราตัดความหลงได้อย่างเดียว เราก็ตัดได้หมด  การตัดตัวหลงตัดอย่างไร ตัดตรงมรณานุสสติกรรมฐาน  ก็คิดเสียว่าคนและสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความตายไปในที่สุด  วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก  มันมีการเกิดก่อตัวขึ้นในเบื้องต้น  แล้วก็สลายตัวไปในที่สัดเหมือนกัน  วัตถุเรียกว่าพัง  คนและสัตว์เรียกว่าตาย

                                -สังขารุเปกขาญาณ  คือว่า  ทำใจวางเฉยยอมรับนับถือความเป็นจริง  เรามีหน้าที่ที่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติกันอย่างนั้น  เพื่อเป็นการระงับทุกขเวทนา  อย่างเช่น  ตื่นขึ้นมาก็ต้องล้างหน้า  ไม่ต้องการก็ล้าง  ถึงเวลาจะกินก็กิน  ก่อนที่จะได้กินต้องหา  ก็ต้องหาทุกสิ่งทุกอย่าง  ถือว่าทำตามหน้าที่  แต่ร่างกายอัปรีย์ที่สร้างความเร่าร้อน  สร้างความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  และมันเองก็เต็มไปด้วยความสกปรกอย่างนี้  จิตเราก็คิดไว้ว่า  ก่อนจะเกิดเรามันโง่  ถ้าเราไม่โง่  เราไม่ยึดถือกิเลสตัณหา  อุปาทาน  และอกุศลกรรม  เป็นสมบัติของเรา  ประจำจิตใจเรา  เราก็ไม่ได้เกิด  เราก็ไปนิพพาน  ในเมื่อเราโง่มาแล้ว  เราก็จะไม่โง่ต่อไป  คิดไว้ในใจคือ สังขารุเปกขาญาณ  เขาคิดอย่างนี้  คิดว่าอะไรเราจะเกิดขึ้นมากับร่างกายก็ตามที  และอะไรจะเกิดขึ้นมากับอารมณ์ก็ตาม  ถือว่าช่างมัน  มันธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น  เราก็ทำไปทุกอย่าง ทำตามหน้าที่เท่านั้น  มันหิวก็หาให้กินตามหน้าที่  มันร้อนเอาความเย็นให้มัน  ระงับทุกขเวทนาตามหน้าที่  มันหนาวหาความอบอุ่นให้ตามหน้าที่  มันป่วยไข้ไม่สบาย  รักษากายนี้ตามหน้าที่  คือตามหน้าที่หมายถึงว่า  ระงับทุกขเวทนาชั่วคราว  แต่ว่าจิตใจของเราไม่มีความต้องการในมันอีก

                                -สังขารุเปกขาญาณ  อารมณ์มันเฉยทุกอย่าง  ความรู้สึกน่ะมี  ไม่ใช่ไม่คิด  คนถ้ายังมีลมหายใจอยู่มันต้องคิด  แล้วถ้าถามว่าเฉยอย่างไร  ก็ตอบว่า  อารมณ์มันเฉย ความรักในเพศไม่เกิดขึ้น  ความเกลียดไม่เกิดขึ้น  คือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย  ธาตุ 4  เข้ามาประชุมกันแบบนี้  มีอาการ  32  มีความสกปรกโสโครก  เป็นอนิจจังไม่เที่ยง  ทุกข์  เป็นทุกข์  อนัตตา สลายตัว  เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้มันเฉย  มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน  ร่างกายเป็นหน้าที่ของร่างกาย  จิตใจเป็นหน้าที่ของจิตใจ ร่างกายจะแก่ก็เป็นหน้าที่ของร่างกาย  ใจไม่ต้องไปช่วยมันแก่ ร่างกายจะป่วยก็เป็นหน้าที่ของร่างกาย  ไม่ใช่ใจจะช่วยมันป่วย ร่างกายจะตายเป็นหน้าที่ของร่างกาย  ไม่ใช่หน้าที่ของใจ  ใจไม่ต้องไปช่วยมันตาย  จงวางอารมณ์เสีย  ใครเขาจะยังไงก็ช่าง  เขาจะดี  เขาจะชั่ว  เขาจะเลว  เขาจะอย่างไรก็ตามเถอะ ไม่สนใจ  เห็นหน้าคน  เราคิดไว้เสมอว่า  เป็นคนที่เราควรแก่การปรานี  เห็นหน้าสัตว์ก็คิดว่าเป็นสัตว์ควรแก่การปรานี  พยายามไม่ถือตน  คนและสัตว์ก็ตาม  ถือว่ามีธาตุ 4 คือธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟเสมอกัน มีอาการ 32 เหมือนกัน  มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น  มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง  มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน สร้างอารมณ์ให้เป็นสังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ  อย่างนี้  การระงับการถือตัวถือตนย่อมเป็นของไม่ยาก

                                -ขอพูดย่อ ๆ  อารมณ์ที่ทำนี่  ไม่ใช่ต้องนั่งหลับตา  ท่านเดินไปเดินมา  นั่งทำอะไรอยู่  นอนอยู่  ยืนอยู่ แล้วก็เดินอยู่  ทำอะไรก็ตาม  มองดูสภาพของความจริง  เห็นต้นหญ้าที่มันร่วงโรยลงไปก็คิดว่า  โอหนอ  ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน  ก็คิดมันวนไปวนมา  ถอนกำลังใจให้มันติด  คือว่าเมื่ออาการอย่างนั้นเกิดขึ้น  เราเห็นอะไรขึ้น  ถ้าอาการของความทุกข์เกิดขึ้น  ความขัดข้องเกิดขึ้น  เราก็เฉย  ที่เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ  มันอะไรจะมาก็ช่างมัน  มันจะแก่ก็เชิญแก่  ใจสบาย ๆ ถือว่าหนีความแก่ไม่ได้   ถ้าความป่วยไข้ไม่สบายมันเกิดขึ้น ทุกขเวทนามันมีเราก็ต้องรักษา  ใจเราก็เฉย  รักษาหายก็หาย  ไม่หายก็ช่างมัน  อยากตายเมื่อไหร่ก็เชิญ  เกิดมาเพื่อตาย  ใช้สังขารุเปกขาญาณ  เฉยทั้งอาการที่เข้ามากระทบกระทั่งจิต  ในด้านของโลกีย์วิสัย  เฉยทั้งคำชม  เฉยทั้งคำนินทา  เฉยทั้งได้มา  เฉยทั้งเสื่อมไป  ไอ้การชมการสรรเสริญก็ดี  การด่าการนินทาก็ดี  เราไม่ได้เป็นไปตามปากเขา  เราจะดีหรือจะชั่วมันอยู่ที่กำลังใขของเราเท่านั้น รวบรวมกำลังใจไว้อย่างนี้  เราก็เฉยต่ออาการทั้งหมด  ไม่มีอะไรสนใจ  ช่างมัน  ถ้าจะถามว่า  ถ้าทำจิตได้อย่างนี้ยังสูบบุหรี่ไหม  ยังกินหมากไหม  ยังจะต้องใช้ของที่เคยใช้กับร่างกายไหม  ก็ต้องตอบว่าใช้ตามปกติ  เขาไม่ได้ติด  แต่ร่างกายต้องการ  เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังฉันภัตตาหาร  เรื่องอะไรที่ประสาทต้องการเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องบำรุงประสาท  เพื่อเราจะเอาไว้ใช้ประโยชน์  เหมือนกับคนที่ลงเรือรั่วเพื่อหวังจะข้ามฟาก  ถ้าขณะใดที่ยังอาศัยเรืออยู่  เมื่อน้ำมันรั่วขึ้นมาเราก็ต้องอุด  มันผุตรงไหนก็ต้องทำนุบำรุงซ่อมแซม  ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มันรั่วให้มันพังไปจนกว่าเราจะขึ้นฝั่งได้  สิ่งสำคัญคือการยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อย่าใช้อารมณ์ฝืนกฎธรรมดา  อารมณ์จิตของเราจะเป็นสุข

                                -ขอท่านทั้งหลายผู้หวังดีกับตัวเอง พิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก เตือนใจของตนเองไว้ว่า  วันไหนมันหลงในร่างกายของเราบ้างไหม  ว่าร่างกายของเราแข็งแรงดี  สวยสดงดงาม  ผิวพรรณผ่องใสมีไหม  ถ้ามีจงรู้ว่านั่นโง่เต็มทีแล้ว  เป็นอารมณ์ของอบายภูมิ  วันไหนที่เราเห็นร่างกายคนอื่นมันสวยมีไหม ถ้ามีแสดงว่าเราโง่เต็มที  เราพึงคิดไปว่าไอ้เจ้าโง่ตัวนี้เราไม่คบ เพราะร่างกายมันเป็นอย่างไร  เรารู้อยู่แล้ว  เราก็สกปรก  คนอื่นก็สกปรก  ร่างกายมันไม่ใช่เรา  มันเป็นบ้านเช่าชั่วคราว  สังขารุเปกขาญาณ ใช้ให้เป็นอารมณ์  วางเฉยต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ  มีจิตใจจับเฉพาะอย่างเดียวคือนิพพาน  ทำศีลให้บริสุทธิ์  ทำสมาธิให้ตั้งมั่น  ใช้ปัญญายอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง ไม่ดิ้นรน  มีอารมณ์สบาย  ถ้าทำได้แค่นี้ท่านก็เป็นอรหันต์  มันไม่ยาก  คิดไว้ทุกวัน  คิดไว้เสมอทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ตื่นขึ้นมาแล้วก็ดูกายสกปรก  ดูกายไม่เที่ยง  ดูกายเป็นทุกข์  ดูกายเป็นอนัตตา  อารมณ์มันจะชิน  จะเป็นปกติ   ในที่สุดมันก็เปลื้องได้

                                -ความเบื่อหน่ายในร่างกาย  เบื่อในการเกิด  เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ  ถ้าท่านคิดใคร่ครวญในรูปสมถะให้เห็นเป็นซากศพอยู่เสมอ  และใคร่ครวญหากฎธรรมดาควบคู่กันไป  คือเมื่อเกิดความทุกข์อันเกิดแต่การป่วยไข้หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจ  หรือความแก่เฒ่าเข้ามารบกวน  ท่านก็วางใจเฉยเสีย  ไม่ดิ้นรนกระเสือกกระสน  โดยคิดว่า ที่เป็นเรื่องธรรมดา เกิดมามันก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย  มีลาภแล้วลาภมันก็เสื่อมได้  มียศแล้วยศมันก็สิ้นได้  มีสุขแล้วทุกข์มันก็มีได้  มีคนสรรเสริญแล้วคนนินทาก็มีได้  เกิดแล้วก็ต้องตายได้  ทุกอย่างมันธรรมดาแท้ ๆ  จนจิตชินต่ออารมณ์  มีอะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกว่าเป็นปกติ  ไม่ดิ้นรนหวั่นไหวอย่างนี้  ท่านเรียกว่าได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้ความเป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว

                                -การใช้วิปัสสนาญาณ  ถ้ายังไม่ถึงนิพพิทาญาณเพียงใด  ก็ชื่อว่าอารมณ์ของบรรดาท่านพุทธบริษัทยังไม่มีผลในวิปัสสนาญาณ  นิพพิทาญาณที่เป็นตัวแรกที่เข้าถึงผล  แต่ผลที่เข้าถึง  ตอนแรกอย่าคิดว่ามันจะทรงตัว  เอาแค่เบื่อเล็กน้อย เฉพาะเวลาใหม่ ๆ  เบื่อตลอดเวลาไม่ได้นะ  หรือว่าจะบังคับให้เบื่อตลอดเวลามันจะไม่เบื่อตลอดเวลา  บางครั้งเราจะมีความรู้สึกเบื่อในร่างกายของเราเอง  เอาร่างกายเป็นสำคัญ  แล้วก็บางครั้งมันก็ไม่เบื่อ  อารมณ์เบื่อมันจะน้อยกว่าอารมณ์ไม่เบื่อก็ช่างมัน ถือว่ามีความเบื่อก็แล้วกัน  ให้คิดเสียว่า  ถ้าเรายังไม่สิ้นกิเลสเพียงใด การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะยังมีอยู่  ตายจากความเป็นคนมาเกิดเป็นคนก็ยังดี  ส่วนใหญ่ก็ไปอบายภูมิ  ไปสวรรค์หรือพรหมก็มีน้อย ไปเกิดในอบายภูมิมีนรก เป็นต้น  ก็ทุกข์หนักกว่านี้  ก็รวมความว่า  ถ้าเราเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ก็ไม่สิ้นทุกข์  ฉะนั้นการเกิดประภทนี้เป็นของน่าเบื่อ  นี่เรียกว่านิพพิทาญาณ

                                -ถ้าทำใจสบาย  จิตเข้าถึงฌาน 4 หรือ ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3  ก็ตาม  เวลาที่จิตสงัด  ปัญญามันจะเกิดเอง  มันจะบอกชัด  มันจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายขึ้นมาเอง มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันไม่เป็นสาระ  ไม่เป็นแก่นสาร  ไม่มีการทรงตัวเพราะอะไร  เพราะเมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความป่วย ความตาย  ในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์  หากความสุขไม่ได้  เราจะบริหารในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้  เราจะบริหารร่างกายสักเพียงใดก็ตาม  ร่างกายก็เต็มไปด้วยความทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา  ทำให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ 5  คือร่างกายเสีย  นี่ตัวปัญญามันจะเห็น ปัญญามันจะสอนต่อไปว่า  ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการเกิดอีกต่อไปแล้ว  ก็ตัดรากเหง้าของกิเลสทั้ง 3 ประการทิ้งเสียให้หมด คือตัดอำนาจของความโลภด้วยการให้ทาน  ตัดรากเหง้าของความโกรธด้วยการเจริญเมตตาบารมี  และตัดรากเหง้าของความหลงด้วยการพิจารณาหาความจริงของขันธ์  5  ปัญญามันจะเห็นชัดว่า ร่างกายเป็นแค่เพียงธาตุ 4  ไม่มีการทรงตัว  มีการเปลี่ยนแปลง ภายในเต็มไปด้วยความสกปรก  นี่มันจะบอกชัด  ปัญญามันดีกว่านี้มาก  ถ้ามันได้ถึงจริง ๆ

                                -จิตต้องปล่อยให้เป็นนิพพิทาญาณจริง ๆ  เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดี  เห็นผู้หญิงก็ตาม  เห็นผู้ชายก็ตาม  ให้พิจารณาเป็นอสุภกรรมฐาน  เห็นตามความเป็นจริงว่า  คนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ช้าก็เป็นศพ  และเวลานี้ก็มีสภาพเหมือนศพเดินได้  เพราะอะไร  เพราะเลยผิวหนังเข้าไปไม่มีอะไร  หาอะไรที่สะอาด  หาอะไรที่น่ารัก ดูน่าชื่นใจไม่มี  มันเป็นสิ่งโสโครกด้วยประการทั้งปวง  นี่ว่ากันถึงอารมณ์ของอสุภกรรมฐาน  ถ้าเราเจริญอสุภกรรมฐาน  ถ้าเราเข้าถึงฌาน 4  จริง ๆ  อารมณ์จิตจะเห็นว่าร่างกายปรากฎว่าเป็นของน่าเกลียด  โสโครก  ไม่ว่าร่างกายของเราหรือกายของบุคคลอื่น  เมื่อรู้ว่าศพเน่า  ศพเหม็น  ไม่น่ารัก  ไม่น่าดู  แบบนี้หนัก ๆ เข้า  จิตมันจะเกิดความเบื่อหน่าย  ว่าร่างกายเขาก็ไม่เป็นเรื่อง  ร่างกายเราก็ไม่เป็นเรื่อง  ร่างกายบุคคลอื่นก็ไม่เป็นเรื่อง  ไม่น่ารักน่าชมตรงไหนเลย  เรื่องอะไรที่เราจะมาหลงใหลใฝ่ฝันในร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร

                                ร่างกายของเรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น  มีความเสื่อมไป   แล้วก็สลายไปในที่สุด  เมื่อความสลายปรากฎมีมาเมื่อไรก็ปรากฎว่า  สิ่งสกปรกทั้งหลายมันก็หลั่งไหลออกมาแบบนี้ ร่างกายของเรา  ของคนทั้งหมดนี่น่าเกลียดจริง ๆ  ตัวนี้เอาความเบื่อหน่ายปรากฎเป็นวิปัสสนาญาณไปในด้านวิปัสสนาญาณ  ทีแรกจริง ๆ พิจารณาว่าศพตายอืด  เหม็น ที่เป็นสมถะ  แล้วตัวสมถะตัวนี้มันก็วิ่งไปหาวิปัสสนาญาณเอง  โดยไม่ต้องตั้งขึ้นมาใหม่  อันนี้มีความสำคัญมาก

                                มันจะเกิดเป็นนิพพิทาญาณ  เมื่อวิปัสสนาญาณปรากฎเป็นด้านนิพพิทาญาณแล้ว  ต่อมาสังขารุเปกขาญาณก็ปรากฎ  เมื่อเราเบื่อทั้งหมดแล้ว  เบื่อทั้งกายเรา และเบื่อทั้งกายคนอื่น  มันเบื่อหมด  หาความสวยไม่ได้ หาความดีไม่ได้ หาความสะอาดไม่ได้  แล้วต้องการมันทำไม  ความต้องการในร่างกายมันก็ไม่มีอยู่  จิตมันก็เฉย  ความดิ้นรนประสงค์ในร่างกายเรา ร่างกายบุคคลอื่นไม่มีแล้ว ก็เป็นการวางเฉย  การวางเฉยตัวนี้คือสังขารุเปกขาญาณ  ดังนั้นข้อสำคัญ เราต้องควบขคุมกำลังใจของเราในด้านนิพพิทาญาณ  พิจารณาตามความเป็นจริง วิปัสสนานี่เขาเอาจิตเข้าไปจับหาความเป็นจริงกัน  ไม่ใช่ฝืนความจริง