วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กุศลกรรมบถ ๑๐ (กายสุจริต 3 วจีสุจริต 4. มโนสุจริต 3)

กุศลกรรมบถ ๑๐

            ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง 
            ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย 
            ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม 

       ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก 

            ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ 
            ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด 
            ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ 
            ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ 

       ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก 

            ๘. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา 
            ๙. อพยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา 
            ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม 

       ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก

คำว่า กุศลกรรมบถ แปลได้ ๒ นัย

       ๑. แปลว่า ทางเกิดแห่งกุศลกรรมที่ส่งผลในปฏิสนธิกาลได้ 
       ๒. แปลว่า กุศลกรรมที่เป็นเหตุเกิดในสุคติภูมิ และความสุขในสุคติภูมินั้น 

       กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ทรงแสดงไว้ในพระสูตรมากมาย เฉพาะในอังคุตตรนิกาย มีอยู่หลายสูตร มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ดังนี้ 

            ในสาธุสูตร เรียกว่า สาธุธรรม (ธรรมดี) 

            ในอริยธรรมสูตร เรียกว่า อริยธรรม (ธรรมของอารยชน) 

            ในกุศลสูตร เรียกว่า กุศลธรรม (ธรรมที่ทำลายความชั่ว) 

            ในอรรถสูตร เรียกว่า อรรถธรรม (ธรรมที่มีประโยชน์) 

            ในสาสวสูตร เรียกว่า อนาสวธรรม (ธรรมที่ไม่มีกิเลส) 

            ในวัชชสูตร เรียกว่า อนวัชชธรรม (ธรรมที่ไม่มีโทษ) 

            ในตปนียสูตร เรียกว่า อตปนียธรรม (ธรรมที่สร้างความร่มเย็น) 

            ในอาจยคามิสูตร เรียกว่า อปจยคามิธรรม (ธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์)
 

            ในสาเลยยกสูตร ปัญจมวรรค แห่งมูลปัณณาสถ์ ทรงเรียกว่า ธรรมจริยสมจริยา 

            ธรรมจริยา แปลว่า การประพฤติที่เป็นธรรม 

            สมจริยา แปลว่า การประพฤติกรรมที่ถูกต้อง 

       ทรงแสดงผลดีที่จะพึงได้รับ
 จากการประพฤติธรรม และการประพฤติกรรมที่ถูกต้องนี้ว่า ใครปรารถนาอะไร ? จะเป็นมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ พรหมสมบัติ มรรค ผล และนิพพาน ล้วนสำเร็จสมประสงค์ทั้งสิ้น ดังข้อความในสาเลยยกสูตรว่า 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายจากโลกนี้แล้ว ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งธรรมจริยาและสมจริยา ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ 

       ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ คือ 

       ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ละการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป
 เว้นขาดจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้มีท่อนไม้และศัสตราอันวางแล้ว มีความละอายประกอบด้วยความเอ็นดู เป็นผู้เกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก 

       ๒. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์ของผู้อื่น จะอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าก็ตาม ย่อมเป็นผู้ไม่ถือเอาทรัพย์นั้นที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยจิตคิดขโมย 

       ๓. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ ดังนี้แล 

       ธรรมจริยา และสมจริยา ทางวาจามี ๔ คือ 

       ๑. บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ละมุสาวาท
 เว้นขาดจากมุสาวาท ไปในสภาก็ดี ในบริษัทก็ดี ในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ในท่ามกลางเสนาก็ดี ในท่ามกลางแห่งราชตระกูลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า แน่ะพ่อชาย ท่านจงมา ท่านรู้อย่างไร จงเบิกอย่างนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ ก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ หรือรู้อยู่ก็บอกว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น หรือเห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าเห็น ย่อมไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง 

       ๒. เป็นผู้ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากกล่าวส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนทั้งหลายที่แตกกันแล้ว หรือสนับสนุนหมู่คนที่สามัคคีกันอยู่แล้ว เป็นผู้มีความชื่นชมยินดีในหมู่คนผู้สามัคคีกัน เป็นผู้กล่าววาจาที่ทำให้คนสามัคคีกัน 

       ๓. เป็นผู้ละคำหยาบ เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รักจับใจ เป็นคำสุภาพ เป็นที่ชอบใจ พอใจของคนจำนวนมาก 

       ๔. เป็นผู้ละการกล่าวเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการกล่าวเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูด พูดคำจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ไม่พูดมาก พูดแต่คำที่มีประโยชน์ 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางวาจามี ๔ อย่างนี้แล 

       ธรรมจริยาและสมจริยา ทางใจมี ๓ อย่าง คือ 

       ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากไปด้วยความไม่เพ่งเล็ง
 ไม่ละโมบอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน 

       ๒. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น คิดแต่ในทางที่ดีว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด 

       ๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดามีบุญคุณ บิดามีบุญคุณ โอปปาติกะมีจริง สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้ามีจริง 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางใจมี ๓ อย่างนี้แล 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะการประพฤติธรรม และการประพฤติกรรมอันชอบเหล่านี้แล 

       ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติธรรมและประพฤติกรรมอันชอบ พึงหวังว่า หลังจากที่เราตายแล้ว 

            ๑. พึงเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล
            ๒. พราหมณ์มหาศาล
            ๓. เทวดาชั้นจาตุมมหาราช
            ๔. เทวดาชั้นดาวดึงส์ 
            ๕. เทวดาชั้นยามา
            ๖. เทวดาชั้นดุสิต 
            ๗. เทวดาชั้นนิมมานรดี
            ๘. เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
            ๙. พรหมชั้นพรหมปาริสัชชา
            ๑๐. พรหมชั้นพรหมปุโรหิตา 
            ๑๑. พรหมชั้นมหาพรหมา
            ๑๒. พรหมชั้นปริตตาภา
            ๑๓. พรหมชั้นอัปปมาณาภา
            ๑๔. พรหมชั้นอาภัสสรา
            ๑๕. พรหมชั้นปริตตสุภา
            ๑๖. พรหมชั้นอัปปมาณสุภา 
            ๑๗. พรหมชั้นสุภกิณหา
            ๑๘. พรหมชั้นอสัญญีพรหม 
            ๑๙. พรหมชั้นเวหัปผลา 
            ๒๐. พรหมชั้นอวิหา
            ๒๑. พรหมชั้นอตัปปา 
            ๒๒. พรหมชั้นสุทัสสา
            ๒๓. พรหมชั้นสุทัสสี 
            ๒๔. พรหมชั้นอกนิฏฐา 
            ๒๕. อรูปพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ
            ๒๖. อรูปพรหมชั้นวิญญาณัญจายตนะ 
            ๒๗. อรูปพรหมชั้นอากิญจัญญายตนะ
            ๒๘. อรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
 

       การบรรลุเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติในชาติปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปได้ ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติธรรมและเป็นผู้ประพฤติกรรมอันชอบ 

       พระสูตรนี้แสดงว่า บุคคลผู้ปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จะปรารถนามนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติและนิพพานสมบัติ ก็ตาม ล้วนสมประสงค์ทั้งนั้น 

       มนุษยสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับกษัตริย์มหาศาล และพราหมณ์มหาศาล 

       สวรรคสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นจาตุม-มหาราช จนถึงอรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ 

       นิพพานสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า การบรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

กุศลกรรมบถ ๑๐

ทำให้ได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ

       กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จัดว่าเป็นศีล บุคคลผู้รักษาศีล กระทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ย่อมได้รับอานิสงส์ ดังนี้ 

            ๑. สีเลน สุคตึ ยนฺติ คนทั้งหลายไปสู่สุคติได้ เพราะศีล 
            ๒. สีเลน โภคสมฺปทา คนทั้งหลายถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ เพราะศีล 
            ๓. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ คนทั้งหลายบรรลุนิพพานได้ เพราะศีล 

       ศีลเป็นเหตุให้ได้ไปสู่สุคตินั้น หมายถึง ให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ๑ กามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น เพราะผลของกุศลกรรมบถโดยตรง และพรหมโลก ๒๐ ชั้น เพราะผลของกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย 

       ส่วนศีลเป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน หมายถึง ทรงแสดงศีลโดยความเป็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุอรหัตตผล ๒ ประเภท คือ เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

อุปนิสัยมี ๓ อย่าง

       ๑. ทานูปนิสัย อุปนิสัยคือทาน การเสียสละ 
                          คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมกำจัดความโลภหรือทำความโลภให้เบาบางได้ 

       ๒. สีลูปนิสัย อุปนิสัยคือศีล การเว้นจากเบียดเบียนสัตว์อื่น 
                          คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมไม่มีการเบียดเบียนสัตว์อื่น 

       ๓. ภาวนูปนิสัย อุปนิสัยคือภาวนา การสั่งสมความดี 
                          คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมเพียรพยายาม เพื่อทำความดีให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป 

       กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ จัดเป็นศีล ดังนั้น จึงเป็นสีลูปนิสัย ที่จะช่วยสนับสนุนให้ได้บรรลุสมาธิ ปัญญาและวิมุตติ ตามพระบาลีว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส แปลว่า สมาธิที่ถูกบ่มด้วยศีล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อธิบายว่า บุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ เมื่อบำเพ็ญสมาธิ ย่อมสามารถทำฌานให้เกิดได้ง่าย ครั้นได้ฌานแล้ว ตายไป ย่อมเกิดเป็นพรหม อย่างนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในพรหมโลก 

       ส่วนผู้ได้ฌานบางท่าน ทำฌานให้เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา ย่อมรู้แจ้งเห็นจริงได้ง่าย ตามพระบาลีว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา แปลว่า ปัญญาที่ถูกบ่มด้วยสมาธิ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก 

       จิตของบุคคลผู้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ตามพระบาลีว่า ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวา แปลว่า จิตที่ถูกอบรมด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ โดยชอบ อย่างนี้ ชื่อว่ากรรมบถ เป็นเหตุให้ได้บรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ 

       สีลูปนิสัย คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นเหตุให้บุคคลได้บรรลุฌาน มรรค ผล และนิพพาน ดังพรรณนามาฉะนี้ เปรียบได้กับส่วนของต้นไม้ สีลูปนิสัย เป็นเสมือนรากไม้ สมาธิ เป็นเสมือนลำต้น ปัญญา เป็นเสมือนกิ่งก้านและใบ วิมุตติ ความหลุดพ้น เป็นเสมือนดอกและผลของต้นไม้ 

       ศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้มนุษยสมบัติ สวรรค-สมบัติ และนิพพานสมบัติ ตามขั้นตอนดังได้อธิบายมานี้

อธิบายกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยอาการ ๕

       ๑. โดยธรรม คือ โดยสภาวธรรม 

       กุศลกรรมบถ ๗ คือ 

             ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี 
             ๒. อทินนาทานา เวรมณี 
             ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี 
             ๔. มุสาวาทา เวรมณี 
             ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี 
             ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี 
             ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี
 

       แม้มีชื่อต่างกันก็จริง แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ เจตนา หรือวิรัติ หมายความว่า ถ้าไม่ตั้งใจจะงดเว้น หรือไม่มีการงดเว้น กรรมบถทั้ง ๗ นี้ ย่อมสำเร็จไม่ได้เลย 

       มโนกรรม ๓ คือ อนภิชฌา โดยสภาวธรรม ได้แก่อโลภะ อพยาบาท โดยสภาวธรรม ได้แก่อโทสะ สัมมาทิฏฐิ โดยสภาวธรรม ได้แก่อโมหะ ที่ประกอบด้วยเจตนา 

       ๒. โดยโกฏฐาสะ คือ โดยส่วนแห่งธรรมต่าง ๆ 

       กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรม ๓ อย่าง มีอนภิชฌา อพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ เป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น เพราะทั้ง ๓ นี้ ก็คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นกุศลมูลนั่นเอง 

       ๓. โดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ใจเข้าไปยึดแล้ว เป็นเหตุให้งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า อารมณ์แห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นแหละ เป็นอารมณ์แห่งกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เปรียบเหมือนน้ำที่สามารถทำให้เรือลอยก็ได้ ทำให้จมลงก็ได้ 

       ๔. โดยเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ และเฉย ๆ พระอรรถกถา-จารย์ อธิบายว่า ในขณะทำกุศล ทุกขเวทนา คือ ความเสียใจ ความไม่สบายใจ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะประพฤติกุศลกรรมบถ จึงมีเพียงเวทนา ๒ คือ สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา 

       ๕. โดยมูล คือ โดยกุศลมูล ๓ อย่าง ได้แก่ อโลภมูล ๑ อโทสมูล ๑ อโมหมูล ๑ 

       กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ที่บุคคลประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๓ คือ อโลภมูล อโทสมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล 

       อนภิชฌาที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโทสมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโทสมูล 

       อพยาบาทที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโลภมูล 

       สัมมาทิฏฐิ มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล

อานิสงส์ของกุศลกรรมบถ ๑๐

       กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในจุนทสูตร ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ? ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคน ในโลกนี้ 

       ๑. เป็นผู้ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความสะอาดใจ มีความเอ็นดู มีความเมตตากรุณา ต่อสัตว์ทุกหมู่เหล่า 

       ๒. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตอันเป็นขโมย ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขา อยู่ในป่า หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม 

       ๓. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร 

       ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง มีอะไรบ้าง ? ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคน ในโลกนี้ 

       ๑. เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลาง หมู่ญาติ อยู่ในท่ามกลางเสนา หรืออยู่ในท่ามกลางราชสำนัก ก็ตาม ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า พ่อชายผู้เจริญ พ่อรู้อย่างไร ? จงเบิกความอย่างนั้น ผู้นั้น เมื่อไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็น ก็บอกว่าเห็น จะไม่เป็นผู้กล่าวมุสาวาท ทั้งที่รู้ตัว เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง 

       ๒. เป็นผู้ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ฟังฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายคนฝ่ายนี้ หรือฟังฝ่ายโน้นแล้ว ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายคนฝ่ายโน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกสามัคคี และสนับสนุนคนที่สามัคคีกันอยู่ ชื่นชมยินดีคนที่สามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่สร้างความสามัคคี 

       ๓. เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้พูดแต่วาจาอันไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก ซึ้งใจ เป็นคำพูดของผู้ดี เป็นที่รักและชอบใจของคนทั่วไป 

       ๔. เป็นผู้ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ เป็นผู้พูดถูกกาลเวลา พูดแต่คำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงวินัย พูดถ้อยคำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยสมควรแก่เวลา 

       ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ? ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้ 

       ๑. เป็นผู้ไม่มากไปด้วยความเพ็งเล็ง ไม่เพ็งเล็งคิดเอาของผู้อื่น มาเป็นของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ? ทรัพย์ของผู้อื่นนั้น จะพึงเป็นของเรา 

       ๒. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท มีใจไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่นว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงอย่าจองเวรกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความทุกข์ จงมีแต่ความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด 

       ๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีทัศนะอันไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดา บิดา มีบุญคุณต่อบุตรธิดาจริง โอปปาติกสัตว์มีจริง สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งประจักษ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าแล้ว สั่งสอนผู้อื่นมีจริง 

       ดูก่อนจุนทะ กุศลกรรมบถมี ๑๐ ประการ ดังนี้แล ดูก่อนจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ ลุกขึ้นจากที่นอน แต่เช้าตรู่ จะจับต้องแผ่นดิน โคมัยสด หญ้าอันเขียวขจี หรือไม่จับต้องก็ตาม จะประนมไหว้พระอาทิตย์ หรือไม่ก็ตาม จะลงอาบน้ำเช้าเย็นหรือไม่ก็ตาม จะบูชาไฟ หรือไม่บูชาไฟก็ตาม ย่อมเป็นผู้สะอาดอย่างแท้จริง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ดูก่อนจุนทะ เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นพฤติกรรมอันสะอาดและเป็นเครื่องสร้างพฤติกรรมอันสะอาด ดูก่อนจุนทะ เทวคติ มนุษยคติ หรือสุคติอื่นใด บรรดามี ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งการประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้แลhttp://www.gongtham.net/my_data/luksut/winai_ek/6vin_40.html

 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก