วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คำว่า "ธรรม" ในคำว่า ธรรมทั้งหลาย คืออะไร ขอความกระจ่าง

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1

ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้ว พระองค์ผู้เป็นพระธรรมราชา ได้ตรัสพระคาถานี้สืบอนุสนธิ ดุจประทับพระราชสาสน์ ซึ่งมีดินประจำไว้แล้ว ด้วยพระราชลัญจกรว่า 
                        ๑.  มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา  มโนเสฏฺฐา มโนมยา
                         มนสา เจ ปทุฏฺเฐน                  ภาสติ วา กโรติ วา
                         ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ                  จกฺกํว วหโต ปทํ.
                         “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่
                         สำเร็จแล้วด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี
                         ทำอยู่ก็ดี, ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น
                         ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น.” 


              แก้อรรถ               
              จิตที่เป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมด ต่างโดยจิตมีกามาวจรกุศลจิตเป็นต้น ชื่อว่า “มโน” ในพระคาถานั้น. ถึงอย่างนั้น ในบทนี้ เมื่อนิยม กะ กำหนดลง ด้วยอำนาจจิตที่เกิดขึ้นแก่หมอนั้น ในคราวนั้น ย่อมได้จำเพาะจิต ที่เป็นไปกับด้วยโทมนัส ประกอบด้วยปฏิฆะ (อย่างเดียว). 
              บทว่า ปุพฺพงฺคมา คือชื่อว่า มาตามพร้อมด้วยจิตนั้น อันเป็นหัวหน้าไปก่อน. 
              บทว่า ธมฺมา คือ ชื่อว่า ธรรมเป็น ๔ อย่าง ด้วยอำนาจคุณธรรม เทศนาธรรม ปริยัติธรรม และนิสสัตตนิชชีวธรรม. ในธรรม ๔ ประการนั้น ธรรมศัพท์นี้ในคำว่า 
                                  “ธรรมและอธรรม ๒ ประการ ให้ผลเหมือนกัน 
                        หามิได้ อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ” 
              ดังนี้ ชื่อว่าคุณธรรม (แปลว่าธรรมคือคุณ). 
              ธรรมศัพท์นี้ ในคำว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมงามในเบื้องต้น แก่ท่านทั้งหลาย” ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า เทศนาธรรม (แปลว่าธรรมคือเทศนา). 
              ธรรมศัพท์นี้ ในคำว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กุลบุตรบางจำพวกในโลกนี้ ย่อมเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ” ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ปริยัติธรรม (แปลว่าธรรมคือปริยัติ). 
              ธรรมศัพท์นี้ ในคำว่า “ก็สมัยนั้นแล ธรรมทั้งหลายย่อมมี ขันธ์ทั้งหลายย่อมมี” ดังนี้ เป็นต้น ชื่อว่า นิสสัตตธรรม (แปลว่าธรรมคือสภาพที่มิใช่สัตว์) 
              นัยแม้ในบทว่า “นิชชีวธรรม” (ซึ่งแปลว่าธรรมคือสภาพมิใช่ชีวิต) ก็ดุจเดียวกัน. 
              ในธรรม ๔ ประการนั้น นิสสัตตธรรมหรือนิชชีวธรรม พระศาสดาทรงประสงค์แล้วในที่นี้. นิสสัตตธรรมหรือนิชชีวธรรมนั้น โดยความก็อรูปขันธ์ ๓ ประการ คือ “เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์.” เหตุว่า อรูปขันธ์ ๓ ประการนั่น ชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้าของอรูปขันธ์ ๓ ประการนั่น. 
              มีคำถามว่า “ก็ใจ มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดในขณะเดียวกัน พร้อมกับธรรมเหล่านั้น ไม่ก่อนไม่หลังกว่ากัน ชื่อว่า เป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้นอย่างไร?” 
              มีคำแก้ว่า ใจได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้น ด้วยอรรถว่า เป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมให้เกิดขึ้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อพวกโจรเป็นอันมาก ทำโจรกรรมมีปล้นบ้านเป็นต้นอยู่ด้วยกัน เมื่อมีใครถามว่า “ใครเป็นหัวหน้าของพวกมัน?” ผู้ใดเป็นปัจจัยของพวกมัน คืออาศัยผู้ใดจึงทำกรรมนั้นได้ ผู้นั้นชื่อทัตตะก็ตาม ชื่อมัตตะก็ตาม เขาเรียกว่าหัวหน้าของมัน ฉันใด; คำอุปไมยซึ่งเป็นเครื่องให้อรรถถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงรู้แจ้ง ฉันนั้น. 
              ใจชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลายนั่น ด้วยอรรถว่า เป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมให้เกิดขึ้นฉะนี้ เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั่น จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า, เพราะเมื่อใจไม่เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้. ฝ่ายใจ ถึงเจตสิกธรรมบางเหล่าแม้ไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดขึ้นได้แท้. 
              อนึ่ง ใจชื่อว่าเป็นใหญ่ของธรรมทั้งหลายนั่น ด้วยอำนาจเป็นอธิบดี เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั่นจึงชื่อว่ามีใจเป็นใหญ่. เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายมีโจรผู้เป็นหัวโจกเป็นต้น ผู้เป็นอธิบดี ได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ของชนทั้งหลายมีโจรเป็นต้น ฉันใด, ใจผู้เป็นอธิบดี ได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น, เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีใจเป็นใหญ่. 
              อนึ่ง สิ่งทั้งหลายนั้นๆ เสร็จแล้วด้วยวัตถุมีไม้เป็นต้น ก็ชื่อว่าของสำเร็จแล้วด้วยไม้เป็นต้น ฉันใด, แม้ธรรมทั้งหลายนั่น ได้ชื่อว่าสำเร็จแล้วด้วยใจ เพราะสำเร็จมาแต่ใจ ฉันนั้น. 
              บทว่า ปทุฏฺเฐน คือ อันโทษมีอภิชฌาเป็นต้นซึ่งจรมาประทุษร้ายแล้ว. จริงอยู่ ใจปกติชื่อว่าภวังคจิต, ภวังคจิตนั้นไม่ต้องโทษประทุษร้ายแล้ว. เหมือนอย่างว่า น้ำใสเศร้าหมองแล้ว เพราะสีทั้งหลายมีสีเขียวเป็นต้นซึ่งจรมา (กลับ) เป็นน้ำต่างโดยประเภทมีน้ำเขียวเป็นต้น จะชื่อว่าน้ำใหม่ก็มิใช่ จะชื่อว่าน้ำใสตามเดิมนั่นแลก็มิใช่ ฉันใด, ภวังคจิตแม้นั้น อันโทษมีอภิชฌาเป็นต้น ที่จรมาประทุษร้ายแล้ว จะชื่อว่าจิตใหม่ก็มิใช่ จะชื่อว่าภวังคจิตตามเดิมนั่นแลก็มิใช่ ฉันนั้น, เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่มันเศร้าหมองแล้ว เหตุอุปกิเลสทั้งหลายซึ่งจรมาแล” ดังนี้. 
              ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้วอย่างนี้. 
              บาทพระคาถาว่า ภาสติ วา กโรติ วา คือ เมื่อเขาพูด ย่อมพูดเฉพาะแต่วจีทุจริต ๔ อย่าง, เมื่อทำ ย่อมทำ เฉพาะแต่กายทุจริต ๓ อย่าง, เมื่อไม่พูด เมื่อไม่ทำ เพราะความที่ตัวเป็นผู้มีใจอันโทษมีอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้ายแล้วนั้น ย่อมทำมโนทุจริต ๓ อย่างให้เต็ม. อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างของเขา ย่อมถึงความเต็มที่ ด้วยประการอย่างนี้. 
              บาทพระคาถาว่า ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ ความว่า ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไป เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น คือว่า ทุกข์ที่เป็นผลทั้งเป็นไปในกาย ทั้งเป็นไปในจิต โดยบรรยายนี้ว่า ทุกข์มีกายเป็นที่ตั้งบ้าง ทุกข์มีจิตนอกนี้เป็นที่ตั้งบ้าง ย่อมไปตามอัตภาพนั้น ผู้ไปอยู่ในอบาย ๔ ก็ดี ในหมู่มนุษย์ก็ดี เพราะอานุภาพแห่งทุจริต. 
              มีคำถามว่า “ทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นเหมือนอะไร?” 
              มีคำแก้ว่า เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าของโคพลิพัทตัวเข็นไปอยู่, อธิบายว่า “เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าของโคพลิพัทอันเขาเทียมไว้ที่แอก นำแอกไปอยู่. เหมือนอย่างว่า มันลากไปวันหนึ่งก็ดี สองวันก็ดี สิบวันก็ดี กึ่งเดือนก็ดี ย่อมไม่อาจให้ล้อหมุนกลับ คือไม่อาจละล้อไปได้, โดยที่แท้ เมื่อมันก้าวไปข้างหน้า แอกก็เบียดคอ (ของมัน) เมื่อมันถอยหลังล้อก็ขูดเนื้อที่ขา, ล้อเบียดเบียนด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ หมุนตามรอยเท้าของมันไป ฉันใด, ทุกข์ทั้งที่เป็นไปทางกาย ทั้งที่เป็นไปทางจิต อันมีทุจริตเป็นมูล ย่อมติดตามบุคคลผู้มีใจร้ายแล้ว ทำทุจริต ๓ ประการให้เต็มที่ตั้งอยู่ ในที่เขาไปแล้วนั้นๆ มีนรกเป็นต้น ฉันนั้นแล. 
              ในกาลจบคาถา ภิกษุสามพันรูปได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย. เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์มีผลแม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล. 

              เรื่องพระจักขุปาลเถระ จบ               
              -----------------------------------------------------   
แนวคิดเรื่องจิตจากพระอภิธรรม
http://www.abhidhamonline.org/thesis/thesis2.files/thesis2.htm

จิตเป็นปรมัตถธรรมประเภทหนึ่ง มีสามัญลักษณะของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นสภาวะรู้อารมณ์อย่างเดียว เช่น การนึกคิดถึงบ้านเรือน ต้นไม้ ก็รู้เฉพาะบ้านเรือนอย่างเดียวแล้วดับไป จึงมารู้ต้นไม้ใหม่ เป็นต้น  จิตนี้แม้จะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างตัวตน เพียงแต่แสดงความรู้สึกอยู่ภายในเท่านั้นก็จริง  แต่มีอำนาจพิเศษ หรือเรียกว่า ความวิจิตร ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไป 6 อย่าง (พระครูสังวรสมาธิวัตร 2521 : 12-15) คือ

                  

1.    วิจิตรด้วยการกระทำ  หมายความว่า วัตถุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ประดิษฐ์กรรมอันวิจิตรตระการตามีภาพลวดลายต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องยนต์กลไกทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นศิลปวิทยาที่เกิดขึ้นด้วยจิตของนายช่างทั้งสิ้น

                  

2.  วิจิตรด้วยตนเอง  หมายถึง จิตทำจิตเอง ให้เป็นกุศลบ้าง เพราะปราศจากโลภ โกรธ หลง เป็นบาปอกุศลบ้าง เพราะประกอบด้วย โลภ โกรธ หลง หรือเป็นผลของบุญผลของบาป ที่เรียกว่า วิบากบ้าง หรือเป็นจิตของพระอรหันต์ที่เรียกว่ากิริยาจิตบ้าง ยิ่งกว่านั้นยังแบ่งบุคคลให้ต่างด้วยเพศ ต่างด้วยสัญญา และต่างด้วยคติอีกด้วย

                  

3.  สั่งสมกรรมและกิเลส  หมายความว่า กรรมหรือการกระทำอันเกิดขึ้นด้วยเจตนาและกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เมื่อทำแล้วสั่งสมไว้ที่จิตนี้เองหาได้สั่งสมไว้ที่อื่นไม่เรียกว่า ขันธสันดาน

                  

4.   รักษาไว้ซึ่งวิบากที่กรรมและกิเลสสั่งสมไว้  หมายความว่า จิตนี้ย่อมรักษาผลของการกระทำและผลของกิเลส ซึ่งได้สั่งสมอำนาจไว้มิได้สูญหายไปไหน เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นวิบาก เพื่อรับผลของกรรมนั้น ๆ เมื่อมีโอกาส

                  

5.  สั่งสมสันดานของตนเอง  หมายความว่า จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันไม่ขาดสาย เป็นสันตติสืบเนื่องกันไป ลงสู่ภวังค์แล้วเกิดขึ้นใหม่อีก

                  

6.    มีการวิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ  หมายความว่า จิตนี้ย่อมรู้อารมณ์ต่าง ๆ จิตขณะที่รู้อารมณ์นี้ จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิญญาณ เช่น จิตทางตารู้รูปารมณ์ (เห็นสี) ก็จะเรียกว่า จักขุวิญญาณ หรือจิตทางหู รู้สัททารมณ์ (ได้ยินเสียง) จิตทางจมูก รู้คันธารมณ์ 12 (รู้กลิ่น) จิตทางลิ้น รู้รสารมณ์ (รู้รส) จิตทางกาย รู้โผฏฐัพพารมณ์ (เครื่องกระทบ เย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง) จิตทางมโนรู้ธรรมารมณ์ (รู้เรื่องราวต่าง ๆ มีปสาทรูป 5  สุขุมรูป 16  จิต  เจตสิก  นิพพาน  บัญญัติ)

จากคุณ: เฉลิมศักดิ์1


http://2g.pantip.com/cafe/religious/topic/Y13035068/Y13035068.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก