วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สังโยชน์ 10

สังโยชน์ แปลตามศัพท์ว่า เครื่องผูก หมายถึง กิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้มี 10 อย่างคือ
1.สักกายทิฏฐิ ความเห็นที่ยังติดแน่นในสิ่งสมมุติว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา ว่าเป็นเขาและว่าเป็นนั่น เป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพที่เป็นจริงว่า สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ


2.วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่าง ๆ เช่นสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม และในพระสงฆ์เป็นต้น

3.สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นศีลพรต คือ ความยึดถือว่าตนจะบริสุทธิ์ หรือหลุดพ้นได้ด้วยการถือศีล ระเบียบ เบียบแผน โดยสักว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย หรือเห็นศีล วัตร แบบแผน เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ถือไปด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ คือปฏิบัติเพราะอยากได้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง

4.กามราคะ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกามคุณอันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์

5.ปฏิฆะ ความกระทับกระทั่งในใจ ความหงุดหงิดขัดเคืองใจ

6.รูปราคะ ความติดใจในรูปพรรณอันประณีต เช่น ความพอใจในรสความสุข ความสงบของสมาธิในขั้นรูปฌาน เป็นต้น

7.อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม เช่น ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน ติดใจในอรูปภพ เป็นต้น

8.มานะ ความถือตัว ได้แก่ความสำคัญตัวว่า เป็นนั่น เป็นนี่ เช่นสำคัญว่า สูงกว่าเขา ต่ำกว่าเขา เป็นต้น

9.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตไม่สงบ ว้าวุ่น คิดพล่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ

10.อวิชชา ความไม่รู้จริง ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ได้แก่ไม่รู้อริยสัจจ์

เมื่อผู้อ่านทราบถึง สังโยชน์กิเลส 10 อย่างแล้ว ก็ควรทราบถึง ลำดับพระอริยบุคคลต่อไป

คำว่า อริยบุคคล ก็ได้แก่ บุคคลผู้เจริญแล้ว คำนี้หมายเอาพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอริยสงฆ์เท่านั้น

พระอริยสงฆ์ คือ ใคร พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
1.พระโสดาบัน ผู้เข้าถึงกระแสคือเข้าสู่มรรค เดินทางถูกต้องอย่างแท้จริง หรือปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริง เป็นผู้รักษาศีลให้สมบูรณ์มิให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย ทำได้พอประมาณ ให้สมาธิ (คือทำได้ยังไม่เต็มที่เหมือนรักษาศีล) และทำให้พอประมาณในสมาธิ ละสังโยชน์กิเลสได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) วิจิกิจฉา (ความสงสัย) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นในศีลและข้อวัตรอย่างงมงาย)

2.พระสกทาคามี ผู้จะกลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว ก็จะกำจัดทุกข์ได้หมดสิ้น เป็นผู้รักษาศีลให้บริบูรณ์ ทำได้พอประมาณในสมาธิ ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์กิเลส 3 ข้อข้างต้น คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงด้วย

3.พระอนาคามี ผู้จะปรินิพพานในที่ที่ผุดขึ้น ไม่เวียนกลับมาอีก เป็นผู้รักษาศีลให้บริบูรณ์ ทำสมาธิให้บริบูรณ์ได้เต็มที่ แต่ทำได้พอประมาณในปัญญา (มีใจเป็นสมาธิ แต่ยีงไม่เห็นแจ่มแจ้ง) ละสังโยชน์ได้อีก 2 คือ กามราคะ (ความกำหนดในกาม) และ ปฏิฆะ (ความขุ่นเคืองใจ) รวมเป็นละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 5 ข้อ

4.พระอรหันต์ ผู้ควร (แก่ทักษิณาหรือการบูชาพิเศษ) หรือผู้หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาทั้ง 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และละสังโยชน์กิเลสเบื้องสูงได้อีก 5 ข้อ คือ รูปราคะ (ความติดใจปรารถนาอยู่ในรูปภพ) อรูปราคะ (ความติดใจปรารถนาอยู่ในอรูปภพ) มานะ (ความถือตัว) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) อวิชชา (ความไม่รู้อริยสัจจ์) รวมละสังโยชน์ได้ 10 ข้อ

ลำดับ ทั้ง 4 นี้แหละเป็นลำดับพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ คำว่า พระอริยะ เมื่อไม่เข้าใจถึงหลักนี้ ย่อมไม่รู้ว่า พระอริยะ คือพระที่ปฏิบัติตนอย่างไร แต่ผู้ที่เข้าใจหลักนี้ ย่อมพอมองออกถึงความเป็น พระอริยะ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจก็ควรอ่านหลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจจะได้มีเครื่องมือในการพิจารณาว่าจริงหรือไม่ที่เขา ว่า รูปนั้น เป็น พระอริยะ รูปนี้เป็นพระอริยะ...แล้วพระ ที่ท่านเคารพนับถืออยู่เป็นพระอริยะหรือยัง และท่านรู้ได้ยังไง นี่คือคำถามที่ผมถามกับตัวเองหลังจากอ่านจบ....ท้ายที่สุดผมก็ยังเคารพพระ พุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ทุกรูป ไม่ว่าท่านจะเป็นพระอริยะ หรือ ไม่เป็นพระอริยะ..

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก