วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ห้าขั้นตอนสู่เสี้ยววินาทีบรรลุธรรม

ห้าขั้นตอนสู่เสี้ยววินาทีบรรลุธรรม 

เสี้ยววินาทีที่บรรลุธรรมในบทความนี้ จะเริ่มอธิบายจากช่วงจิตทะลุออกจากอนาคามีผล เข้าสู่อรหันตมรรค แล้วจบลงที่อรหันต์ผล ซึ่งจะตัดกระบวนการจิตตั้งแต่โสดาบันไปจนถึงอนาคามีผลออก เพื่อให้การอธิบายไม่ยืดเยื้อจนเกินไป และส่งผลให้อธิบายสภาวะจิตในขณะเสี้ยววินาทีบรรลุธรรม ได้ละเอียดมากขึ้น จึงจะขออธิบายรวมๆ ดังนี้
เมื่อเข้าสู่สมาธิลึก จนได้ฌานหนึ่ง, ฌานสอง, ฌานสาม ตามลำดับ จิตจะพ้นจากกิเลสทั้งหยาบ, กลาง และละเอียดชั่วคราว ยังเหลือเพียงปีติและสุขที่เป็นเครื่องปรุงจิต ทำให้สภาวธรรมแท้อันบริสุทธิ์ยังไม่เกิด จวบจนกระทั่งแม้แต่ปีติและสุขก็ดับลง จนไม่เหลือเครื่องปรุงแต่งใดๆ ณ ภาวะนั้น เป็นความสุขสงบบริสุทธิ์แท้ไร้การปรุงแต่ง ใสซื่อสะอาดตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรเจือปนอีก ณ ภาวะเช่นนี้ หากมีการพิจาณาสภาวธรรม จะเรียกว่าเป็น วิปัสสนา เป็นภาวะจิตที่เหมาะสมแก่การบรรลุธรรม คือ ภาวะเทียบเท่าฌานสี่ แต่ยังไม่เข้าสู่ฌานสี่ หรือภาวะฌานสามที่กำลังจะเข้าฌานสี่ มีการดับไปของปีติและสุขเป็นกริยาจิต กรณีของการเข้าฌานสี่ กริยาจิตจะแตกต่างจากการวิปัสสนาญาณเล็กน้อย ขออธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ลึกขึ้นดังนี้ว่า จิตที่เข้าสู่ฌาน จะมีกริยา ทรงไว้ สืบไว้ เสพอยู่ กริยาจิตเหล่านี้ล้วนสามารถสร้าง ชาติภพ ใหม่ได้เสมอ ซึ่งเป็นภพแห่งพรหม ไม่ใช่ภาวะที่จะเข้าสู่การบรรลุธรรม และทำให้สิ้นไปซึ่งชาติภพ แตกต่างจากจิตที่มีการวิปัสสนาในภาวะที่มีสมาธิเทียบเท่าฌานสี่รองรับ (วิปัสสนาญาณ) เพราะจิตที่เข้าสู่วิปัสสนาญาณ จะไม่มีการ สืบไว้ ทรงไว้ หรือเสพอยู่ แต่จะเป็นการเพ่งสภาวธรรมที่เกิดขึ้น มีกริยา จ้องอยู่ ดูอย่างนิ่งเฉยอยู่ พิจารณาอยู่ เพ่งอยู่ เป็นกริยาจิต ในขณะที่เพ่งสภาวธรรมนั้นเอง หากสภาวธรรมแท้บังเกิดขึ้นขณะนั้น จิตก็จะเกิดกริยา น้อมรับ ก้าวล่วง หลอมรวม ตกลงสู่ ในสภาวธรรมนั้นๆ (โอปนยิโก) ขณะนั้นเอง จิตจะเปิดออก จะคลายอัตตาการยึดมั่นถือมั่น แผ่ไปไพศาล เนื่องจากสภาวธรรมแท้นั้น ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตจึงแผ่ออกไปไร้ประมาณ ตามแต่กำลังปัญญาบารมีแต่หนหลังได้บำเพ็ญมา จิตนั้นจะกลายสภาพเป็นจิตสากลจักรวาลดวงหนึ่ง เรียกว่า จิตพุทธะ ซึ่งได้บังเกิดขึ้นหลังอวิชชาดับลง (จากการคลายการยึดมั่นถือมั่นใดๆ) และเกิดพุทธิปัญญาตามมาภายหลัง แต่อยู่ในสภาวะที่บริสุทธิ์มาก มากจนไม่มีคำศัพท์ใดๆ บนโลกจะอธิบายได้หมด เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็จะหาคำศัพท์มาอธิบายสภาวธรรมนั้นๆ เพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นได้รู้ตามตน ทำให้ต้องหยิบยืมคำศัพท์ที่มีในโลก ที่ใกล้เคียง หรือช่วยให้เข้าสู่สภาวะเดียวกันได้ง่ายขึ้นมากที่สุด อาทิเช่น หลวงพ่อสดกล่าวถึง นิพพานว่าเป็น นิจจัง, สุขขัง, อัตตา ซึ่งแสดงว่าท่านได้พบสภาวะนั้นแล้ว แต่เลือกใช้คำที่เป็นข้อห้ามใช้ในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง ส่วนพระเยซูจะใช้คำว่า ชีวิตนิรันดร ความสุขนิรันดร ซึ่งดีในแง่การชักชวนปฏิบัติธรรม แต่กลายเป็นเครื่องขัดขวางการบรรลุธรรมขั้นสูงในภายหลังได้ ส่วนท่านเล่าจื้อ ใช้คำว่า เต๋า เพื่อยืมมาอธิบายสภาวะนั้นๆ พร้อมทั้งบอกว่าเป็นสภาวะที่อธิบายไม่ได้ ถ้าอธิบายได้ก็ไม่ใช่เต๋า ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า นิพพาน เพียงคำเดียวแล้วจะไม่ทรงอธิบายต่ออีก ให้ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติตามจนจิตเข้าใกล้แล้วไหลสู่สภาวะนั้นๆ เอง ซึ่งนับว่าดีที่สุด เพราะนับเอาภาวะที่กิเลสดับลงชั่วคราว ซึ่งใกล้เห็นสภาวธรรมแท้ เป็นเครื่องกำหนดหมายให้จิตเดินตามมรรคได้ไม่หลง จึงจะได้สภาวธรรมที่บริสุทธิ์แท้จริง เพราะหากบอกอธิบายด้วยศัพท์แม้แต่คำเดียว สภาวธรรมนั้นก็ขาดความบริสุทธิ์ ย่อมติดอยู่กับสมมุติบัญญัติในคำศัพท์ที่กล่าวนั้น จนไม่ใช่สภาวธรรมแท้อีกต่อไป แต่หลังจากได้บรรลุธรรมเกิดพุทธิปัญญาและหยิบยืมคำศัพท์สมมุติบัญญัติทางโลกต่างๆ มาอธิบายแล้ว ธรรมนั้นจะด้อยความบริสุทธิ์ลงทันที กลายเป็น สมมุติธรรม ไม่ใช่ วิมุติธรรม อีกต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าคำใดๆ ที่อธิบายสภาวธรรมนั้นๆ ล้วนไม่สามารถจะบอกได้ว่านั่นคือสภาวธรรมนั้นๆ ทั้งสิ้น จำต้องปฏิบัติเอง จึงเรียกได้ว่าเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ อันวิญญูชนพึงรู้ด้วยตนเอง อนึ่งการอธิบายในบทความนี้ ก็สมควรระงับ เพราะเป็นการชี้โพรงก่อนปฏิบัติ แต่เนื่องจากเห็นนักปฏิบัติหลงทางกันมากมาย จึงจำต้องอธิบายให้ชัดเจนและใกล้เคียงที่สุด
 
ลำดับขั้นการปฏิบัติเข้าสู่เสี้ยววินาทีบรรลุธรรม
ขั้นที่หนึ่ง กิเลสดับชั่วคราว
การได้ฌานตั้งแต่ฌานหนึ่งขึ้นไป ก็นับว่ากิเลสได้ดับลงชั่วคราวแล้ว (ตทังคนิพพาน) ภาวะเช่นนี้ พบในสัตว์เดรัจฉานด้วย ในช่วงที่เข้าสู่ฤดูขาดแคลนอาหาร กรรมที่สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นทำไว้แต่ชาติภพหลัง ปรุงแต่งให้สัตว์เดรัจฉานได้ก่อกรรมซ้ำรอยเกวียนเดิม กรรมนั้น คือ การเข้าฌาน ส่งผลให้สัตว์เหล่านั้นได้อานิสงค์ยามขาดแคลนอาหาร จะเข้าสู่ภาวะจำศีลโดยธรรมชาติ หรือโดยกรรมเก่าเวียนมาบรรจบนั่นเอง สัตว์ในอดีตมีอายุยืนมาก เช่น เป็นพันๆ ปีเป็นหลัก ซึ่งเกิดในยุคที่มนุษย์ก็มีอายุเป็นพันๆ ปีหรือหมื่นปีเช่นกัน ดังนั้น สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้น จึงเข้าสู่ภาวะจำศีลทุกๆ ปีที่เข้าสู่ฤดูขาดแคลนอาหาร เมื่ออายุสัตว์ได้พันปี ก็นับเป็น ตบะพันปี ไปด้วย ทำให้สัตว์เหล่านั้น มีกำลังจิตแก่กล้า และมีอิทธิฤทธิ์ขึ้นได้ เมื่อสัตว์เดรัจฉานมีอิทธิฤทธิ์ ก็ถอดกายทิพย์เป็นเทวดาไปก่อกรรมทำเข็ญต่างๆ ตามแต่ฤทธิ์ของตนจะมี สัตว์เดรัจฉานประเภทนี้เป็นสัตว์โบราณ ปัจจุบันแทบไม่มีเหลืออีก นอกจากเผ่าพันธุ์นาคเท่านั้น ที่ยังพอหลงเหลือให้เห็น ความเป็นอยู่ของเหล่าสัตว์เดรัจฉานที่อาศัยกายทิพย์ขึ้นไปก่อกรรมทำเข็ญต่างๆ โดยปล่อยร่างที่จำศีลไว้นั้น จึงนับเอาเป็นเทวดาชั้นที่หนึ่งด้วย คือ เทวดาชั้นจตุมหาราชิกา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ หากเทพเทวดาไปพบกายทิพย์ของสัตว์เหล่านี้กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ให้นับเข้าไว้เป็นกลุ่มเทวดาชั้นจตุมหาราชิกานั่นเอง ซึ่งในอดีตนั้นนับว่ามีหลากหลายชนิด เช่น ครึ่งเทพครึ่งลิง, ครึ่งเทพครึ่งนาค, ครึ่งเทพครึ่งนก, ครึ่งเทพครึ่งกระทิง, ครึ่งเทพครึ่งกิเลน ฯลฯ ในภาวะจิตที่สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าเดรัจฉานหรือคนก็ตาม เข้าสู่ภาวะฌาน โดยไม่มีการถอดกายทิพย์ไปก่อกรรมทำเข็ญ (จิตนิ่งเฉยอยู่) นับเอาว่าเป็นภาวะจิตที่ไร้กิเลสชั่วคราว เรียกว่า ตทังคนิพพาน คือ นิพพานชั่วคราว ซึ่งเกิดได้ทั้งคนและสัตว์โบราณ รวมทั้งสัตว์ในปัจจุบันที่เข้าสู่ภาวะจำศีลได้ นอกจากนี้ สัตว์ที่ไม่สามารถเข้าสู่ภาวะจำศีลได้ แต่มีจิตว่างจากกิเลสชั่วคราวได้ขณะดำเนินกิจกรรมอยู่ก็มี ก็นับเข้าเป็นนิพพานชั่วคราวได้เช่นกัน แต่ภาวะนิพพานชั่วคราวนี้ ไม่ใช่ภาวะเดียวกับภาวะของผู้บรรลุธรรมเลย คล้ายกันแค่ชื่อเท่านั้น แต่ความสุขสงบสงัด ความละเอียดเบานุ่มนวลของจิต ฯลฯ แตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่ภาวะเดียวกัน ไม่ใช่การบรรลุธรรม
 
ขั้นที่สอง ขุกรากอวิชชา
เมื่อกิเลสได้หมดไปแล้ว ดับลงแล้ว เรียกว่าภาวะ กิเลสนิพพาน ได้เกิดขึ้นแล้ว หากยังไม่บรรลุธรรม ก็คือ ตทังคนิพพาน (กิเลสนิพพานชั่วคราว) ขั้นตอนที่จะเข้าสู่มรรคาแห่งการบรรลุธรรม ขั้นต่อไป คือ การ ขุกรากอวิชชา โปรดเข้าใจว่า กิเลส, ตัณหา, อุปทาน, อัตตา, อวิชชา เหล่านี้ ย่อมต้องหายไปหมดสิ้นเมื่อบรรลุธรรม ดังนั้น กิเลสนิพพาน หรือกิเลสดับ จึงเป็นแค่การเปิดทาง เปิดช่อง เปิดประตูสู่กระบวนการบรรลุธรรมเท่านั้น ยังไม่ใช่การบรรลุธรรมเสียทีเดียว ขั้นต่อไปนี้ คือการขุดรากอวิชชา ซึ่งการจะขุดรากอวิชชาได้นั้น จำต้องไม่มีอุปทาน คือ ความหลงเชื่อผิดๆ ใดๆ ทั้งมวล นั่นคือ ภาวะที่ไม่อาศัยความรู้ใดๆ จากแหล่งใดเลย จำต้องอาศัยการเห็นธรรมด้วยตนเองโดยไม่มีการนึกคิดเอาหรือปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้น และธรรมนั้นต้องเป็นธรรมบริสุทธิ์ ดังนี้แล้ว อุปทาน จึงจะไม่เข้ามาเจือปนระหว่างการเห็นสัจธรรม เพราะอุปทานนี้ ทำให้สภาวธรรมไม่บริสุทธิ์ ถูกเจือปนด้วยทิฐิต่างๆ เมื่อป้องกันไม่ให้อุปทานเข้ามาเจือปนระหว่างจิตจะบรรลุธรรมแล้ว ก็ค่อยหยิบเอาตะกอนที่อุดตันจิตออกมา เพื่อให้จิตเปิดรับสภาวธรรมได้เต็มที่ เพราะสภาวธรรมเป็นสากล มีความยิ่งใหญ่เรียบง่ายธรรมดา จิตใจที่คับแคบย่อมไม่รับสภาวธรรมนั้นๆ ได้ จำต้องนำตะกอนที่ปิดกั้นจิตออก ตะกอนเหล่านั้น เรียกว่า อัตตา หรือ การยึดมั่นถือมั่นในเรื่องต่างๆ ซึ่งแต่ละท่านย่อมจะแตกต่างกันไป ขั้นตอนนี้ หากได้พบผู้มีปัญญาช่วย จนละสักกายทิฐิได้ปัญญาเห็นธรรม ก็เรียกว่าบรรลุแบบรวดเดียวไม่ผ่านขั้นตอนโสดาบัน แต่หากผ่านการละสักกายทิฐิมาแล้ว ให้ตรวจสอบตนเองได้จากไตรปิฎก คือ พิจารณาจากสังโยชน์ ๑๐ เพื่อตรวจดูว่าจิตเรานั้น ยังไม่สามารถจัดการสังโยชน์ตัวใดได้ หากยังเหลือตัวใดก็นำตัวนั้นขึ้นมาพิจารณา ให้เลือกเฉพาะตัวที่ยังอุดตันอยู่ ยังปิดกั้นจิตอยู่ การเลือกมาพิจารณา คือ การเข้าสู่วิปัสสนาญาณนั่นเอง ในขั้นนี้ หากได้ผู้มีปัญญาช่วย ผู้มีปัญญาย่อมจะมองจิตผู้ปฏิบัติออกว่าอุดตันในลักษณะใด อุปมาเหมือนเกาหลัง ตนเองทำไม่ถนัด ให้ผู้อื่นทำบางครั้งก็ง่ายกว่า ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาก็มักจะทิ้งปริศนาธรรมไว้ให้ (ในทางเซนเรียกว่าโกอานหรือโคอัน) เมื่อผู้ปฏิบัติได้ปริศนาธรรมไปขบคิดเกิดวิปัญญาญาณขึ้น ก็สามารถขุดตะกอนที่อุดตันนั้นๆ ออกได้สำเร็จ จะรู้สึกว่าเบาสบายใจเหมือนยกภูเขาออกจากอกฉะนั้น จึงสมกับคำกล่าวที่ว่า ปัญญาทางธรรม คือปัญญาที่ทำให้ล่วงพ้นทุกข์ได้แท้จริง นั่นเอง เมื่อขุดลอกสิ่งอุดตันเหล่านี้จนหมด จนใสสะอาดแล้ว จิตพระอนาคามีนั้น จะสะอาดบริสุทธิ์จนเกือบเทียบเท่าพระอรหันต์ ต่างกันเพียงปัญญายังไม่เกิดเท่านั้น แต่ก็นับเป็นจิตที่พร้อมเกิดพุทธิปัญญาโดยง่าย อุปมาเหมือนดอกบัวที่เลี้ยงดูในที่ดี พร้อมออกดอกเต็มที่แล้วฉะนั้น ในขั้นนี้ จิตจะยังอาลัยอาวรณ์ในชาติภพบางประการอยู่บ้าง เช่น หากย้อนระลึกชาติได้ อาจอาลัยอาวรณ์บางสิ่งในชาติภพนั้นๆ เพียงเล็กน้อย เพราะปัญญายังไม่แจ้ง ยังไม่รู้เท่าทันถึงท้ายที่สุดของสรรพสิ่ง จิตจึงยังไม่คลายชาติภพเก่าหรือใหม่ก็ตาม ในกรณีพระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งบรรลุธรรมระดับอนาคามี และเข้าถึงธรรมด้วยปัญญาบารมี สามารถสอนผู้อื่นให้บรรลุได้ก่อนตน ตนยังสามารถไปเกิดช่วยคนได้อีกนั้น จิตของท่านเมื่อจะบรรลุหมดสิ้นชาติภพนั้น อาจจะมีการอาศัยเอาภพใหม่ คือ ภพสวรรค์สุขาวดี ที่ประทับขององค์พระอมิตาภะพุทธเจ้าไว้ ดังนี้ แม้ชาติภพเก่าดับแล้ว ไม่อาลัยในโลกแล้ว จิตเหนือโลกแล้ว แต่ยังคงมีภพหน้าอยู่ จึงเกิดได้อีก จึงยังไม่สิ้นชาติภพแท้จริง และลงมาโปรดสัตว์บนโลกได้อีก จิตลักษณะนี้ อุปมาได้ว่า ขุดอวิชชาออกหมดแล้วปลูกดอกบัวที่บานลงไปแทน ดังนั้น จะสิ้นชาติภพก็หาไม่ จะไร้การแตกหน่อแตกกอก็หาไม่ จะไม่มีการตื่น, รู้, เบิกบาน ก็หาไม่ จิตลักษณะนี้จึงจัดเป็น โพธิจิต เป็นจิตแห่งพุทธะผู้ตื่นแล้วเช่นกัน บรรลุธรรมเช่นกัน คือ โพธิสัตว์ธรรมนั่นเอง ไม่ใช่อรหันต์ธรรม

ขั้นที่สาม คายอวิชชา
ขั้นนี้ นอกจากจะขุดอวิชชาได้หมดแล้ว จำต้องคายอวิชชาที่ขุดนั้นออกไปด้วย และไม่มีเหลืออีก อุปมาเหมือนขุดรากถอนโคนหญ้ารกออกหมด ไม่เหลือเศษเหง้าเมล็ดและเชื่อให้เกิดใหม่ได้อีกเลย ในขั้นนี้ จะเป็นขั้นที่จิตมีกระบวนการต่อเนื่องจากขั้นการขุดรากอวิชชา คือ กริยาที่จิตขุดตะกอน, สันดอน, สิ่งยึดมั่นถือมั่น, สังโยชน์ใดๆ ออกหมดแล้ว จิตมีลักษณะไม่ปิดกั้นใดๆ ไม่ยึดมั่นใดๆ ไม่แยกตัวของใครของมันใดๆ จิตเปิดรับสภาวธรรมอย่างสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อเห็นสภาวธรรมนั้น ไม่ใช่ที่ยึด ไม่มีอะไรให้ยึด (ก็ส่งผลให้ อัตตาดับลง) ไม่ใช่ที่อยากหรือไม่อยาก ไม่มีอะไรควรอยากหรือไม่อยาก (ก็ส่งผลให้ ตัณหาดับลง) ไม่ใช่ที่อาลัยอาวรณ์ ไม่มีอะไรควรอาลัยอาวรณ์ (ก็ส่งผลให้กิเลสดับลงถาวร) เรียกว่าคายอวิชชาได้หมดครบถ้วน ส่งผลให้อวิชชาดับลงในที่สุด ในขั้นนี้ จะมีความรู้สึกว่ากิเลสนั้นไม่มีดีเลย เรานี้โง่งมอยู่ได้ ช่างน่าขำอะไรนักนะ เป็นลักษณะของจิตที่พ้นจากอำนาจการครอบงำของกิเลส เพราะตัวตนที่แท้จริงของกิเลสนั้น น่ารังเกียจนัก ผู้ที่พ้นจากมันได้ย่อมเห็นความน่ารังเกียจของมัน และเห็นความโง่เขลาของตนเองในอดีต (ต่างจากการคายอัตตา เวลาคายอัตตา จะมีภาวะจิตกระเทือน มีสะเทือนใจก่อน และหากจิตทรงไว้ได้มั่น ก็จะว่างเบาโล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก) โดยปกติแล้ว กิเลส, ตัณหา, อุปทาน, อัตตา, อวิชชา นั้น จะอยู่เสริมกัน อุปมาเหมือน ลูกโป่งที่มี ความมืด (อวิชชา) นั้นอาศัยเกิดได้เพราะควันดำมาบดบังไว้ (กิเลส) จนเกิดแรงดันจากควันไปให้มากบ้าง น้อยบ้างทางนั้นทีทางนี้ที (ตัณหา) เสริมความแข็งแรงให้ลูกโป่งนี้ด้วยการฉาบปูนเข้าไปอีก (อัตตา) โดยมีการแต่งแต้มภาวะที่ไม่เข้าใจไปต่างๆ นานาๆ ให้ลูกโป่งพอกปูนนี้มีลวดลายปกปิดความมืดดำ (อุปทาน) อีกชั้นหนึ่ง เวลาจะขุดลอกออก จึงต้องไม่สนใจลวดลายที่ทำให้เข้าใจผิด (ไม่มีอุปทาน) แล้วกะเทาะเปลือกที่แน่นหนาออก (ทำลายอัตตา เช่น ดับสักกายทิฐิ) แล้วอาศัยจังหวะที่ควันลอยเคลื่อนเกิดช่องว่าง (ตทังคนิพพาน กิเลสดับชั่วคราว) เพื่อดิ่งลงใจกลางลูกโป่ง จะลงใจกลางได้ต้องตรงกลางพอดีๆ (ทางสายกลางแก้ ภวตัณหา และวิภวตัณหา) จากนั้น จึงจุดไฟขึ้นทำลายความมืดในใจกลางนั้น (ดับอวิชชา) ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็วมาก และไม่มีการลำดับช้าๆ ให้เห็นชัดได้ ทำให้ผู้บรรลุธรรมทั้งหลาย อธิบายสภาวะจิตขณะบรรลุธรรมได้ยาก และไม่ละเอียดพอ (แต่หากอาศัยการส่งกระแสจิตตรวจจิตของผู้ที่กำลังบรรลุธรรม ซ้ำๆ หลายรอบ ก็จะสามารถเก็บข้อมูลนี้ได้อย่างละเอียดเช่นกัน)  

ขั้นที่สี่ อวิชชาดับ
เมื่อละอุปทาน, ทลายเกราะอัตตา, อาศัยจังหวะกิเลสดับชั่วคราว, หาจุดกลางพ้นตัณหา, ดิ่งลงลึกกลางในกลางเพื่อลงไปขุดรากอวิชชาได้แล้ว คราวนี้ ถึงขั้นตอนที่อวิชชาจะดับลง ซึ่งจะเกิดพุทธิปัญญาขึ้นแทนที่ทันทีเช่นกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อวิชชาได้แปรเปลี่ยนเป็นปัญญาแล้ว อวิชชาให้กำเนิดปัญญาแล้ว ด้วยกระบวนการทางจิตตามมรรควิธีอันถูกต้องนี้ เรียกว่าอวิชชาดับสิ้นลงถาวร แสดงรายละเอียดได้เป็นขั้นๆ ดังนี้
๑)    ละอุปทาน ในขั้นนี้ จำต้องฝึกจิตไม่ให้ปรุงแต่ง หรือนึกคิดเอาเองให้ได้ก่อน จำต้องล้างสมอง เอาความจำได้หมายรู้ สัญญาขันธ์ ความรู้ทางธรรม พักไว้ก่อนชั่วคราว เราจะเข้าสู่สภาวธรรมแท้จริง ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่ในตำรา หรือการจินตนาการ การแปลศัพท์ ไปตามความคิดได้หมายรู้ของเราเอง

       ๒)
    
ทลายเกราะอัตตา ในขั้นนี้ จะต่อสู้กับจิตที่ปิด จิตยึด (อัตตา) เป็นกริยาจิตที่ไม่เปิดกว้าง  ไม่เปิดรับ ไม่ยอมรับรู้ธรรมนอกตัว เพราะมัวแต่ถือตัวถือตนว่าตนแน่ ตนรู้มากแล้ว เข้าใจมากแล้ว (แต่ไม่ได้เห็นธรรมตามจริงด้วยตนเอง) บางครั้งต้องอาศัยการถูกด่าให้รู้ตัวว่าโง่โดยผู้มีปัญญาสูงกว่า (จิตจึงไหว)

๓)    อาศัยจังหวะกิเลสดับชั่วคราว ในขั้นนี้ จำต้องอาศัยภาวะจิตว่าง แบบเซน เช่น ภาวะที่จิตไม่คิดอะไร ไม่อยากอะไร ขณะทำงานเพลินๆ ขณะฟังธรรมะเพลินๆ ขณะเอ๋อไปเพราะเจอผู้มีปัญญาสั่งสอน หรือขณะเข้าฌานสามสู่ฌานสี่ จังหวะนี้เป็นเรื่องของฌานโดยตรง มีสมาธิเป็นเครื่องรองรับจิต ทรงจิต รองรับสภาวธรรมที่กำลังจะเกิด หากรองรับไม่ดี ก็สั่นคลอน ไม่บรรลุธรรมได้

๔)   หาจุดกลางพ้นตัณหา ในขั้นนี้ จิตจะเคว้งคว้างเล็กน้อย เพราะหลังคลายการยึดมั่นของเก่า (ถูกทลายอัตตา) แล้ว จิตจะเคว้งคว้าง เหมือนคนกำลังจะสับสนตนเองว่าสิ่งที่ตนยึดถือมาตลอดมันไม่ใช่ แล้วตนจะยึดมั่นอะไรดี จน กระทั่งเห็นความเป็นกลางพอดี ของการวางจิต จิตจึงจะหยุดนิ่ง แล้วน้อมลงดิ่งลึกลง ตรงจุดนี้จิตจะพ้นจากตัณหาได้โดยสิ้นเชิง พร้อมที่จะดับอวิชชา

๕)   ดิ่งลงกลางในกลางขุดรากอวิชชา ในขั้นนี้ จิตจะเที่ยงตรงต่อนิพพานแน่วแน่ชัดเจนไม่คลอนแคลนอีก จิตจะดิ่งลึกลงๆ ไปเอง ละเอียดขึ้นๆ เบาขึ้นๆ รู้สึกสุขสงบสงัดจนอธิบายไม่ถูก ยิ่งกว่าได้นอนพักหลับ เหมือนพลังเข้ามาชาร์ต ให้จิตนั้นฟื้นสภาพตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเอง มีพละกำลังมาก หาก สติ ได้เข้ามาจุดประกายในตอนนี้ จิตผู้รู้ อันเป็นจิตพุทธะจะตื่นขึ้นทันที เรียกได้ว่ากองฟืนและน้ำมันราดพร้อมแล้ว หากเกิดประกายไฟเมื่อไร ไฟย่อมลุกโชติช่วงแน่ๆ ความมืดมิดย่อมดับสิ้นลงไปแน่แท้แล้ว

๖)    พุทธิปัญญาเกิด ในขั้นนี้ หากจิตได้สติเป็นตัวจุดประกายสักนิดว่า นี่ละใช่ ตรงนี้ละใช่ จิตก็จะเพ่งสภาวธรรม หรือสภาวะจิตตรงนั้นทันที เมื่อเพ่งไปแล้ว ไม่เห็นอะไรอันควรแก่การอยากได้, อยากมี, อยากเป็น, ควรยึดถือ, หรือปรุงแต่งใดๆ ฯลฯ ก็จะเกิดพุทธิปัญญา อันแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ที่จะรู้สึกหรือจะอธิบาย แต่แท้แล้วก็คือสภาวะเดียวกันนั่นเอง เช่น บางท่านก็รู้สึกว่างโล่งนั่นละใช่ ก็ใช้คำว่า สุญตา มาอธิบาย, บางท่านรู้สึกดับหาย ก็ใช้คำว่า อนิจจัง มาอธิบาย, บางท่านรู้สึกทุกข์ดับหาย ก็ใช้คำว่าทุกข์นั่นแหละ มันเกิดเอง ก็ดับเอง เพื่อมาอธิบายสภาวะนั้นๆ ทำให้แตกต่างกันเล็กน้อยในการอธิบาย แต่เหมือนกันโดยสภาวะ แต่ต่างกันในด้านเข้าทาง อนิจจัง, ทุกขัง หรือ อนัตตา เท่านั้นเอง ซึ่งไม่ว่าเข้าทางใดทางหนึ่งก็บรรลุธรรมเช่นกัน
 
ขั้นที่ห้า พุทธิปัญญาเกิด
สำหรับผู้ที่เข้าฌานโดยตรง ไม่อาศัยวิปัสสนากรรมฐาน (สมถกรรมฐาน) นั้น จะต้องอาศัยจังหวะที่จิตได้ สติ เป็นตัวจุดประกาย ในขณะจิตดิ่งลึกบริสุทธิ์ลงกลางในกลาง จึงจะดับอวิชชา บรรลุธรรมได้ แต่สำหรับผู้ที่อาศัยวิปัสสนากรรมฐานเข้าสู่เสี้ยววินาทีบรรลุธรรมนั้น จะมี สติ เป็นเครื่องประคองอยู่โดยตลอด ดังนั้น จะส่งผลให้สมาธิไม่ลึกมากนัก จำต้องอาศัยจังหวะที่ สติ อ่อนลงเล็กน้อย จิตผ่อนจากการเพ่งลงเล็กน้อย เพื่อดิ่งลึกลงสมาธิลึก หรือฌานระดับฌานสามเข้าฌานสี่ ในภาวะนั้นเอง สิ่งที่เพ่งอยู่ พิจารณาอยู่ จะแสดงสภาวธรรมออกมา คือ ไตรลักษณ์ ตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อเห็นการ ดับไปของสิ่งที่พิจารณา, ทุกข์ที่เกิดและดับไป, หรือภาวะว่างไม่ปรุงแต่ง ไม่อาจหาสิ่งใดยึดได้เลย จิตได้น้อมหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวทั้งหมดไม่เหลือความอาลัยอาวรณ์, ความฟุ้งกระจายไปอื่น, ความอยากใดๆ, ความพยาบาทใดๆ, ความลังเลสงสัยใดๆ อีก ก็บรรลุได้ในฉับพลัน ปกติแล้วนิวรณ์ห้าตัวนี้ จะถูกดับทั้งหมดในขั้นแรกที่เจริญถึงฌานหนึ่งแล้ว และจะกลับมาวนเวียนอีกครั้ง เมื่อสภาวธรรมปรากฏ อันได้แก่ ความลังเลคลางแคลงใจ, ความฟุ้งกระจายของจิตเพราะตกใจที่เห็นสภาวธรรมนั้นอนิจจัง (พบได้ในกลุ่มผู้เจริญอานาปนสติแล้วตกใจเพราะกลัวตัวเองลมหายใจไม่มี), ความอาลัยอาวรณ์ในทางโลกต่างๆ (กิเลสนิวรณ์) นิวรณ์ทั้งสามตัวนี้ จะกลายมาเป็นมารขวางกั้นเมื่อสภาวธรรมปรากฏแล้ว มักมาขวางกั้นการบรรลุธรรม ช่วงที่สภาวธรรมแสดงตัวนี้ นอกจากนิวรณ์ทั้งสามตัวนี้จะวนเวียนกลับมาแล้ว ยังจะมีสิ่งกีดขวางก่อนที่ร้ายกาจกว่าที่เรียกว่ามารทั้งห้า อันได้แก่
          ๑) กิเลสมาร  คือ ความอาลัยอาวรณ์ของทางโลก ความอยากได้ ไม่จบ ไม่อิ่ม
          ๒) ขันธมาร  คือ ความอาลัยอาวรณ์ในขันธ์ทั้งห้า โดยเฉพาะกายนอกกายใน
          ๓) มัจจุราชมาร คือ ความกลัวตาย เช่น ขณะเจริญอานาปนสติจนลมหายใจดับ
          ๔) อภิสังขารมาร คือ การปรุงแต่งธรรม อันมาจากอุปทานเป็นกำลังสำคัญ
          ๕) เทวปุตมาร คือ เทวดาชั้นมารทั้งหลาย ที่จะทดสอบจิต ด้วยการเอาสวรรค์มาล่อบ้าง เอาสิ่งต่างๆ มายั่วยุบ้าง ส่งกระแสจิตเข้ามาในจิตของผู้ปฏิบัติสมาธิบ้าง ฯลฯ
          โดยคนปกติหากผ่านด่านมารนี้ได้ด่านใดด่านหนึ่งในห้าด่านต่างกันไป จะพบสภาวธรรมแท้ที่บริสุทธิ์และมักบรรลุธรรม น้อยนักที่จะพบมารแบบที่สองต่อไปมาขวางกั้นอีก แต่ในกรณีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะทรงผ่านด่านมารนี้ครบหมดทั้งห้าด่าน ดังนั้น จึงสามารถสอนคนและเทวดาได้หลากหลายทุกจริต ทั้งนี้ ในบรรดามารทั้งห้านั้น ล้วนเป็นจิตใจเราเองทั้งสิ้น ยกเว้นเพียง เทวปุตมาร เท่านั้น ที่เป็นจิตเทวดาฝ่ายพาล ที่ส่งมาจากภายนอกเพื่อทดสอบผู้ปฏิบัติจิต ซึ่งหากผู้ปฏิบัติจิตขั้นสูงพลาดพลั้ง เทวปุตมาร ก็จะยั่วยุให้เป็นมิจฉาทิฐิทันที แล้วครอบงำจิตให้กลายเป็นมารเหมือนตน เมื่อตายลงก็จะจุติเป็นมารสวรรค์ เป็นกำลังให้เทวปุตมารแต่ละพวกแต่ละฝ่าย ที่รอรับชักชวนไปเข้ากองทัพรบร่าฆ่าฟันกันบนสวรรค์ แก่งแย่งแข่งขัน อวดฤทธิ์อวดเดชกันต่อไป 

          ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่าผู้บรรลุธรรมทุกคนนั้นอยู่เหนือมารแล้ว มารมองไม่เห็นแล้ว ชนะสูงสุดแล้วเหนือชัยชนะใดๆ ทั้งปวงนั่นเอง ทั้งหมดนี้ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าคนทุกคนจะพยายาม โดยเริ่มจากการไม่ปรุงแต่งจิตให้ได้ก่อน ก็เอาชนะอุปทานได้ระดับหนึ่ง, จากนั้นได้พบผู้รู้ทลายอัตตาให้ ก็ละสักกายทิฐิได้, เมื่อฝึกกรรมฐานแล้วฝึกวางใจตรงกลางน้อมนิ่งดิ่งลึกได้ ก็พร้อมถอนรากอวิชชาได้, ในท้ายที่สุดก็คือการตรงดิ่งสู่ธรรม ยอมทุ่มสุดตัวแม้ตายก็ยอม แม้จะมีอะไรมาขวางหรือยั่วยวนก็ไม่ต้องการ เพียงห้าขั้นเท่านี้ ก็สามารถเอาชนะบ่วงมารได้ทั้งหมด และบรรลุธรรมได้ในชาติเดียว พ้นสิ้นทุกข์ทั้งมวล ซึ่งดีกว่าการรอ หรือคาดหวังเอาน้ำบ่อหน้า การไปคิดว่ารอชาติต่อๆ ไปดีกว่าตนยังไม่พร้อมนั้น เป็นมิจฉาทิฐิตัวร้ายกาจ ที่ทำให้คนห่างจากการปฏิบัติธรรม ต้องรอไปเสี่ยงเอากับความทุกข์ในวัฏฏะสงสารอีกไม่รู้กี่ชาติภพข้างหน้า และพลาดโอกาสสำคัญที่จะหลุดพ้นทุกข์อย่างง่ายดายในชาตินี้ไปในที่สุด ขอฝากทิ้งท้ายบทความไว้ให้คิดกัน
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=222160

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก