วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนา ››››› สมเด็จพระญาณสังวร


กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนา

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งสิ้น ได้กล่าวแล้วว่ารวมเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ฉะนั้น กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งสิ้น จึงเป็นกิจที่พึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง จึงควรที่จะกำหนดในกิจทั้ง ๔ นี้ ก็คือ ๑ ปริญญา กำหนดรู้ทุกข์ ๒ ปหานะ ละทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ๓ สัจฉิกรณะ กระทำให้แจ้งทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ และ ๔ ภาวนา ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มีให้เป็นมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมา นี้เป็นกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และก็เป็นกิจในพุทธศาสนาทั้งสิ้น

จึงควรที่จะทำความเข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติในกิจทั้ง ๔ นี้ ว่ากิจข้อที่ ๑ กำหนดรู้ทุกข์ ก็คือกำหนดให้รู้จักตัวทุกข์ ให้รู้จักที่ตั้งของทุกข์ ให้รู้จักทุกข์อันเกิดปรากฏขึ้นในที่ตั้งของทุกข์นั้น

ที่ตั้งของทุกข์

อันที่ตั้งของทุกข์ ก็คือขันธ์อายตนะธาตุนี้เอง หรือนามรูป หรือกายใจอันนี้เป็นที่ตั้งของทุกข์ ตัวทุกข์ก็ตั้งอยู่ในที่ตั้งของทุกข์นี้ (เริ่ม ๒๗/๑ ) ดังจะพึงเห็นได้ ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็น ว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เกิดแก่ตายก็ตั้งขึ้นที่ขันธ์อายตนะธาตุนี้ หรือที่นามรูปที่กายใจนี้ โสกะปริเทวะเป็นต้น ก็เกิดปรากฏที่นามรูปที่กายใจนี้ ประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เกิดปรากฏที่นามรูปที่กายใจนี้ ปรารถนามิได้สมหวัง ก็เกิดปรากฏที่กายใจที่นามรูปนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสว่าโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นตัวทุกข์ ก็คือนามรูปกายใจนี้

และก็มีคำกำกับว่าเป็นที่ยึดถือ ก็คือเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรานั้นเอง อันบ่งถึงตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ที่ประกอบเข้ามาด้วย เพราะที่จะเป็นตัวทุกข์นั้น ก็จะต้องมีตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ประกอบเข้ามาด้วย ดังเช่นที่มีประกอบอยู่ในคำจำแนกแจกแจงว่าอะไรเป็นทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งมีกล่าวถึงประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก

อันสิ่งที่เป็นที่รัก หรือสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เพราะยึดถือว่าเป็นที่รัก หรือยึดถือว่าไม่เป็นที่รักนั้นเอง หรือปรารถนาไม่ได้สมหวัง ก็บ่งถึงตัวปรารถนาซึ่งเป็นตัวสมุทัย ฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะแยกกันได้ระหว่างทุกข์กับสมุทัย ต้องประกอบกัน เมื่อละตัณหาอุปาทานได้ ก็เป็นอันว่าได้ดับตัวสมุทัยได้ จึงดับทุกข์ เหลือแต่วิบากขันธ์ที่เป็นตัวทุกข์อยู่ตามสภาพ เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ดังที่ได้กล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้น ขันธ์อายตนะธาตุจึงเป็นที่ตั้งของทุกข์ ทุกข์ก็ตั้งอยู่ที่ขันธ์อายตนะธาตุนี้ และสมุทัยก็ตั้งอยู่ที่ขันธ์อายตนะธาตุนี้เช่นเดียวกัน

ดังที่มีพระพุทธาธิบายในหมวดทุกขสมุทัย ว่าตัณหาก็บังเกิดตั้งขึ้นที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนาเป็นต้น ทุกข์ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่นี่ สมุทัยก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่นี่นั้นเอง และก็ย่อมดับไปในที่นี่อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะจึงสมควรที่จะกำหนดรู้ในตัวทุกข์ดังกล่าวนี้ก่อน ให้รู้จักขันธ์อายตนะธาตุ หรือนามรูป หรือกายใจอันนี้ ว่าเป็นที่ตั้งของทุกข์ ทุกข์ก็ตั้งลงที่นี่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นตัวทุกข์ไปด้วยกัน

กำหนดรู้ทุกข์โดยไตรลักษณ์

และวิธีหัดกำหนดให้รู้จักตัวทุกข์ ที่ตั้งอยู่ที่ขันธ์อายตนะธาตุ หรือนามรูป หรือกายใจอันนี้ ก็โดยวิธีหัดกำหนดโดยไตรลักษณ์ คือลักษณะอันเป็นเครื่องกำหนดหมายที่เป็นสามัญทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง สังขารทั้งปวงก็คือขันธ์อายตนะธาตุ นามรูป หรือกายใจเหล่านี้นั้นเอง

ด้วยว่าเป็นสังขารเพราะเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งขึ้นมา ฉะนั้น จึงมีลักษณะที่เสมอกันหมด ไม่มียกเว้น ก็คือไม่เที่ยง คำว่าไม่เที่ยงนั้นก็คือเกิดดับ เมื่อเกิดก็ต้องดับ จึงไม่เที่ยง เพราะถ้าเที่ยงก็จะต้องเกิดไม่ดับ แต่นี่เกิดดับ จึงไม่เที่ยง

และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเหมือนอย่างถูกความเกิดดับนั้นบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ตั้งอยู่คงที่

อาการที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ด้วยอำนาจของความเกิดดับที่บีบคั้นอยู่ตลอด ดั่งนี้เป็นตัวทุกข์ในไตรลักษณ์ และสิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จะบังคับให้ไม่ดับ หรือบังคับให้ไม่เกิดไม่ดับ ให้ตั้งอยู่คงที่ไม่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็บังคับไม่ได้ จึงเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน

ความเป็นอนิจจะทุกขะอนัตตาทั้ง ๓ นี้ นี่แหละรวมกันเป็นตัวทุกข์ ที่เป็นทุกขอริยสัจจ์สภาพที่จริงคือทุกข์ เป็นทุกข์โดยที่เป็นทุกข์ตามที่เข้าใจกันว่า ทุกข์ๆ อย่างแท้จริง และเป็นทุกข์โดยที่เป็นตัวสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งจะต้องตกอยู่ในลักษณะของสังขาร ซึ่งจะต้องมีเกิดมีดับดังกล่าวมานั้น และเป็นทุกข์โดยที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป หัดพิจารณากำหนดให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ดั่งนี้ ซึ่งเป็นตัวสัจจะความจริง เป็นตัวธรรมดา ความที่มาหัดพิจารณาให้รู้จักตัวทุกข์ดั่งนี้ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะจะเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่ละตัณหาอุปาทานไปได้ในตัว

อวิชชา วิชชา

อันตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก กับอุปาทานคือความยึดถือนี้ ตามหลักพุทธศาสนาย่อมเกิดมาจากตัวอวิชชา คือตัวไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันอวิชชาคือตัวไม่รู้นี้มิใช่หมายความว่า ไม่รู้อะไรๆ บุคคลมีจิตที่เป็นตัวธาตุรู้ ย่อมรู้อะไรๆ ได้ แต่เพราะมีอวิชชาอยู่จึงเป็นตัวรู้หลง เป็นตัวรู้ที่ยึด หรือเป็นตัวรู้ที่อยากยึด อันหมายความว่ารู้ในสิ่งใดก็มีตัณหาที่เป็นตัวอยากอยู่ในสิ่งนั้น มีอุปาทานคือความยึดถืออยู่ในสิ่งนั้น จึงเป็นตัวรู้หลง แต่มิใช่รู้พ้น รู้พ้นนี้จึงเป็นวิชชา

แต่รู้พ้นที่เป็นตัววิชชานี้จะมีได้ก็ต้องเป็นตัวรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ด้วยการที่มาฝึกหัดปฏิบัติตั้งต้นแต่ให้รู้จักตัวทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ และเมื่อรู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ได้ นั่นก็เป็นวิชชาขึ้นมาโดยลำดับ ตัณหาอุปาทานก็จะผ่อนคลายดับลงไปโดยลำดับ เมื่อรู้จริงในสิ่งใด ก็ดับตัณหาอุปาทานในสิ่งนั้นได้ ดับไปเองโดยมิได้บังคับให้ดับ ถ้ายังมีอวิชชาคือตัวไม่รู้อยู่ในสัจจะที่เป็นความจริงแล้ว จะบังคับให้ตัณหาอุปาทานดับสักเท่าไรก็บังคับไม่ได้ ตัณหาอุปาทานไม่ดับ เมื่อเป็นตัวรู้ขึ้นแล้วก็ดับไปเอง

เช่นเดียวกับความมืด เมื่อยังไม่มีความสว่างจะบังคับให้ความมืดดับไปนั้นไม่ได้ และความมืดนั้นเองย่อมเป็นเครื่องปกปิดทุกๆ อย่างที่ตั้งอยู่ในความมืด ไม่ให้มองเห็น ต่อเมื่อมีความสว่าง ความมืดนั้นก็หายไปเอง ตามอำนาจของความสว่างที่บังเกิดขึ้น และเมื่อความสว่างบังเกิดขึ้นความมืดหายไป สิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืดก็จะปรากฏขึ้น จะมองเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้

ในขณะที่ความสว่างยังไม่ปรากฏขึ้น ความมืดปกคลุมอยู่ สิ่งต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในความมืดก็ไม่ปรากฏ มองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นก็ต้อง จะต้องเดาเอา ต้องคิดเดาเอา เป็นความปรุงเป็นความแต่ง ว่าสิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืดนั้นคงจะเป็นสิ่งนั้นคงจะเป็นสิ่งนี้ ปรุงแต่งไป นี่แหละคือตัวสังขารในจิตใจ ปรุงแต่งในจิตใจไป ซึ่งไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสัจจะคือความจริง

พระพุทธเจ้าทรงทำลายอวิชชาได้หมดแล้ว ทรงมีความสว่างอย่างเต็มที่ ความมืดหายไปหมดแก่พระองค์ ทุกๆ อย่างที่ตั้งอยู่ในความมืดจึงปรากฏแก่พระองค์ ซึ่งทรงนำมาแสดงสั่งสอน

แต่แม้เมื่อทรงแสดงสั่งสอนชี้ให้รู้จักขันธ์อายตนะธาตุ ให้รู้จักนามให้รู้จักรูป ให้รู้จักกายรู้จักใจ ให้รู้จักว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้เป็นตัวทุกข์อย่างนี้ๆ ประกอบด้วยสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้ๆ และเมื่อปฏิบัติดับสมุทัยเสียได้ก็ดับทุกข์ได้อย่างนี้ๆ และวิธีปฏิบัติเป็นอย่างนี้ๆ

แม้เช่นนั้นบุคคลผู้ฟังซึ่งยังอยู่ในความมืด ยังละความมืดไม่ได้ แม้ได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ก็ยังมองไม่เห็น ก็ยังคงปรุงแต่งอยู่นั้นเอง คือปรุงแต่งว่าพระองค์ตรัสว่าเป็นทุกข์ แต่ว่าจะเป็นทุกข์จริงหรือ น่าจะเป็นสุข ตรัสว่าเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นสมุทัยจริงหรือ น่าจะเป็นเหตุให้เกิดสุข ดังนี้เป็นต้น ก็แปลว่าความเชื่อยังไม่ตั้งมั่น เพราะปัญญายังมองไม่เห็น ก็แปลว่าทุกๆ อย่างก็ยังอยู่ในความมืดนั้นเอง ด้วยอำนาจของอวิชชาที่ยังละไม่ได้

แต่ว่าเมื่อได้ตั้งใจปฏิบัติไปตามที่ทรงสั่งสอน ในศีลในสมาธิในปัญญาที่เป็นตัวมรรค จิตมีความสงบ ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ และด้วยอำนาจของปัญญา ที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ ก็ย่อมจะบังเกิดความสว่างทำให้มองเห็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืด เพราะความมืดนั้นจะผ่อนคลายลง เมื่อความสว่างเกิดขึ้นความมืดก็หายไป หายไปตามสมควรแก่ความสว่างที่บังเกิดขึ้น ก็จะเห็นว่าทุกข์ตั้งอยู่ สมุทัยตั้งอยู่ นิโรธตั้งอยู่ มรรคตั้งอยู่ ชัดขึ้น

โอกาสที่ธรรมจักขุจะปรากฏขึ้น

ในเมื่อได้ความสว่างขึ้นนี้เอง สัจจะดังกล่าวจึงจะปรากฏ แม้ว่าจะปรากฏรางๆ ให้มองเห็นเค้าว่านี่คือทุกข์ นี่คือสมุทัย นี่คือนิโรธ นี่คือมรรค ดั่งนี้ ก็ยังเป็นการดี และความสว่างที่รางๆ ขึ้นอันทำให้พอมองเห็นอะไรขึ้นได้บ้างนี้เอง ในเมื่อชัดขึ้นบ้างพอสมควร ก็เป็นตัววิชชาขึ้นตามสมควร ตัณหาอุปาทานก็ดับไปพอสมควร จึงเป็นโอกาสที่ธรรมจักขุคือดวงตาเห็นธรรมจะปรากฏขึ้น

ซึ่งความปรากฏขึ้นแห่งดวงตาเห็นธรรมนี้ ก็รวมเข้าในดวงตาเห็นธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ก็คือเห็นเกิดดับนั่นเองชัดขึ้น ดั่งนี้ก็คือว่าเห็นทุกข์ชัดขึ้น ก็ทุกขสัจจะนั้นเอง เห็นทุกขสัจจะดั่งนี้เป็นธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม เป็นความเห็นที่ไม่ใช่เป็นตัวสังขารคือตัวปรุงแต่ง คือคิดคาดเอา

แต่ว่าเป็นตัวเห็นที่เป็นตัวปัญญา เป็นตัวความสว่างที่บังเกิดขึ้นความมืดก็หายไป สิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืด ที่ความมืดเคยปกคลุมอยู่นั้นก็ชัดเจนขึ้นทำให้มองเห็น ว่าเป็นอย่างนี้ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นอย่างนี้ ดั่งนี้แหละเป็นตัวธรรมจักษุ ก็จะดับตัณหาอุปาทานลงไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-044.htm

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก