วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วิชชา & วิมุตติ คือที่สุดแห่งพุทธธรรม

วิชชา & วิมุตติ  คือที่สุดแห่งพุทธธรรม   :: 

::   การได้มาซึ่งฌาน ๔  ในวงจรพุทธธรรม..มีความหมายว่า

::   สัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๗  มีความถึงพร้อมแล้ว

::   นั่นคือ..มีการปฏิบัติธรรมที่ชื่อว่า..อริยมรรค ๘..ได้ถึงพร้อมแล้ว..

::   บุคคลผู้ปฏิบัติธรรม..คือ..อริยมรรค ๘..ถึงพร้อม..!!!

::   ย่อมมีความถึงพร้อมต่อการบรรลุซึ่ง..วิชชา & วิมุตติ..ได้

::   โดยอาศัยเหตุปัจจัย..คือ  :

::   อุเบกขา & เอกัคคตาจิต..ในจตุตถฌานเป็นแรงขับเคลื่อน  

::   โดยมีสภาพเป็นไปตามนัยแห่ง  เกวัฏฏสูตร  ยกมาดังนี้  : 

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า  กายของเรานี้แล  มีรูป  ประกอบด้วยมหาภูติ ๔  เกิดแต่มารดาบิดา  เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด  ไม่เที่ยง  ต้องอบ  ต้องนวดฟั้น  มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา  และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้  เนื่องอยู่ในกายนี้.  ดูกรเกวัฏฏ์  เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม  เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว  สุกใส  แวววาว  สมส่วนทุกอย่าง  มีด้ายสีเขียว  เหลือง  แดง  ขาว  หรือนวล  ร้อยอยู่ในนั้น  บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า  แก้วไพฑูรย์นี้งาม  เกิดเองอย่างบริสุทธิ์  แปดเหลี่ยม   นายช่างเจียระไนดีแล้ว  สุกใส  แวววาว  สมส่วนทุกอย่าง  มีด้ายเขียว  เหลือง  แดง  ขาว   หรือนวล ร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น  ฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ  เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า  กายของเรานี้แล  มีรูป ประกอบด้วยมหาภูติ ๔  เกิดแต่มารดาบิดา  เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด  ไม่เที่ยง  ต้องอบ  ต้องนวดฟั้น  มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา  และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้  เนื่องอยู่ในกายนี้    ดูกรเกวัฏฏ์  แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์  (  วิชชาที่ ๑  วิปัสสนาญาณ  )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน   ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ  คือ  นิรมิตกายอื่นจากกายนี้  มีรูปเกิดแต่ใจ  มีอวัยวะใหญ่น้อยครบถ้วน  มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง. ดูกรเกวัฏฏ์    เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง  เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า  นี้หญ้าปล้อง  นี้ไส้   หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่  ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง.   อีกนัยหนึ่ง  เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า  นี้ดาบ  นี้ฝัก  ดาบอย่างหนึ่ง   ฝักอย่างหนึ่ง  ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง.  อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักงูออกจากคราบ  เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า  นี้งู  นี้คราบ  งูอย่างหนึ่ง  คราบอย่างหนึ่ง  ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง  ฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส  อ่อนควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ  คือ  นิรมิตกายอื่นจากกายนี้  มีรูปเกิดแต่ใจ  มีอวัยวะใหญ่น้อยครบถ้วน  มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง  ดูกรเกวัฏฏ์  แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๒  มโนมยิทธิญาณ  )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน    ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว  อย่างนี้   ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ  คือ  คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้  หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้  ทำให้ปรากฏก็ได้      ทำให้หายไปก็ได้  ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้  ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้   เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้  เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้  ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.  ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด   เมื่อนวดดินดีแล้ว  ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้.  อีกนัยหนึ่ง   เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด  เมื่อแต่งงาดีแล้ว  ต้องการเครื่องงาชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้.  อีกนัยหนึ่ง  เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทอง      ผู้ฉลาด  เมื่อหลอมทองดีแล้ว  ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้  ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล   เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหว  อย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี   เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ  คือ  คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้  หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้  ทำให้ปรากฏก็ได้  ทำให้หายไปก็ได้  ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้  ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้  เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้  เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้  ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้  ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้   ดูกรเกวัฏฏ์   แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๓  อิทธิวิธญาณ )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน   ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ  เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด  คือ  เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์  ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้  ด้วยทิพยโสติอันบริสุทธิ์   ล่วงโสตของมนุษย์  ดูกรเกวัฏฏ์  เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล  เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง   เสียงตะโพนบ้าง  เสียงสังข์บ้าง  เสียงบัณเฑาะว์บ้าง  เสียงเปิงมางบ้าง  เขาจะพึงเข้าใจว่า  เสียงกลองดังนี้บ้าง  เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง  เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง  เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง  ฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ  เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด  คือ  เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์  ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้  ด้วย  ทิพยโสตอันบริสุทธิ์  ล่วงโสตของมนุษย์.  ดูกรเกวัฏฏ์   แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๔  ทิพยโสตญาณ  )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว  อย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ  เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น  ของบุคคลอื่นด้วยใจ  คือ  จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ  หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ  จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ  หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ   จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ  จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่  หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน  จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต  หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต  จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า  หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า  จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ   หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ  จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น  หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น  ดูกรเกวัฏฏ์  เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว  เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด  หรือในภาชนะน้ำอันใส  หน้ามีไฝก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ   หรือหน้าไม่มีไฝก็รู้ว่าหน้าไม่มีไฝ  ฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว   ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหว  อย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ  เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น  ของบุคคลอื่นด้วยใจ  คือ  จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ  หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ  จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ   หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ  จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ  จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่   หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน  จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต  หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต  จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า  หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า  จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ  หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ  จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น.  ดูกรเกวัฏฏ์  แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๕   เจโตปริยญาณ  )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก  คือ  ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง  สองชาติบ้าง  สามชาติบ้าง  สี่ชาติบ้าง   ห้าชาติบ้าง  สิบชาติบ้าง  ยี่สิบชาติบ้าง  สามสิบชาติบ้าง  สี่สิบชาติบ้าง  ห้าสิบชาติบ้าง  ร้อยชาติบ้าง  พันชาติบ้าง  แสนชาติบ้าง  ตลอดสังวัฏฏกัปบ้าง  ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง  ตลอด สังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง  ว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น  มีผิวพรรณอย่างนั้น  มีอาหารอย่างนั้น  เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น  ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น  แม้ในภพนั้น  เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น  มีผิวพรรณอย่างนั้น  มีอาหารอย่างนั้น  เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น   ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาบังเกิดในภพนี้  เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก  พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ  ด้วยประการฉะนี้  ดูกรเกวัฏฏ์  เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น  แล้วจากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านอื่นอีก  จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม  เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า  เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น  ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น  ได้พูดอย่างนั้น  ได้นิ่งอย่างนั้น  แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้านของตนตามเดิม  ดังนี้   ฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล   เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก  คือ  ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง  สองชาติบ้าง  สามชาติบ้าง  สี่ชาติบ้าง  ห้าชาติบ้าง  สิบชาติบ้าง  ยี่สิบชาติบ้าง  สามสิบชาติบ้าง  สี่สิบชาติบ้าง  ห้าสิบชาติบ้าง  ร้อยชาติบ้าง  พันชาติบ้าง  แสนชาติบ้าง  ตลอดสังวัฏฏกัปบ้าง  ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง  ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง  ว่า  ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น  มีผิวพรรณอย่างนั้น  มีอาหารอย่างนั้น  เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น  ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น  แม้ในภพนั้น  เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น  มีผิวพรรณอย่างนั้น  มีอาหารอย่างนั้น  เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น  ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาบังเกิดในภพนี้  เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก  พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ  ด้วยประการฉะนี้.  ดูกรเกวัฏฏ์  แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๖  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน    ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์  ทั้งหลาย  เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ   กำลังอุปบัติ  เลว  ประณีต  มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม  ได้ดี  ตกยาก  ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์  ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า  สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  ติเตียนพระอริยะเจ้า  เป็นมิจฉาทิฏฐิ  ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก  เขาย่อมเข้าถึงอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก  ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต  ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า  เป็นสัมมาทิฏฐิ  ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก  เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  ดังนี้  เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ  กำลังอุปบัติ   เลว ประณีต  มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม  ได้ดี  ตกยาก  ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์  ล่วงจักษุของมนุษย์  ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้.  เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร  บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น  จะพึงเห็นหมู่ชนกำลัง เข้าไปสู่เรือนบ้าง  กำลังออกจากเรือนบ้าง  กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง  นั่งอยู่ที่ทาง ๓  แพร่งท่ามกลางพระนครบ้าง   เขาจะพึงรู้ว่าคนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน  เหล่านี้ออกจากเรือน   เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน  เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนครฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล   เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย  เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ   กำลังอุปบัติ   เลว   ประณีต   มีผิวพรรณดี   มีผิวพรรณทราม   ได้ดี   ตกยาก  ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์  ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า  สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  ติเตียนพระอริยะเจ้า  เป็นมิจฉาทิฏฐิ   ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกเขาย่อมเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก  ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริตวจีสุจริตมโนสุจริตไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า    เป็นสัมมาทิฏฐิ  ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก  เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  ดังนี้.   เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ  กำลังอุปบัติ  เลว  ประณีต  มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก  ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์  ย่อมรู้ชัดซึ่ง  หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม  ด้วยประการฉะนี้.  ดูกรเกวัฏฏ์  แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๗  จุตูปปาตญาณ  )

ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน     ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว  อย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ  ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.  เหล่านี้   อาสวะ นี้อาสวะสมุทัย  นี้อาสวะนิโรธ  นี้อาสวะนิโรธคามินีปฏิปทา  เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้      จิตย่อมหลุดพ้น  แม้จากกามาสวะ  แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว  ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว  รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว   กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.  ดูกรเกวัฏฏ์  เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา  ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว  บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น  จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง  ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง  ฝูงปลาบ้าง  เหล่านี้  กำลังว่ายบ้าง  หยุดบ้าง ในสระน้ำนั้น  เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า   สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว  หอยโข่งและหอยกาบต่าง ๆ บ้าง  ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง    ฝูงปลาบ้าง  เหล่านี้  กำลังว่ายอยู่บ้าง  กำลังหยุดอยู่บ้าง  ในสระนั้น  ดังนี้  ฉันใด  ภิกษุก็ฉันนั้นแล  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามคามเป็นจริงว่า      นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เหล่านี้อาสวะ  นี้อาสวะสมุทัย  นี้อาสวะนิโรธ  นี้อาสวะนิโรธคามินีปฏิปทา  เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้  จิตย่อมหลุดพ้น  แม้จากกามาสวะ  แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว  ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว  รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.     ดูกรเกวัฏฏ์   แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์   (  วิชชาที่ ๘  อาสวักขยญาณ  )
 
::   จาก   เกวัฏฏสูตร   พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๙  หน้า ๓๐๖  ๓๒๙   ::

 
::   วิชชา & วิมุตติ  ที่ยกมาแสดงในที่นี้มี ๘ ประการ  คือ  : 

::   วิชชาที่ ๑  เรียกว่า  วิปัสสนาญาณ
::   วิชชาที่ ๒  เรียกว่า  มโนมยิทธิญาณ
::   วิชชาที่ ๓  เรียกว่า  อิทธิวิธญาณ
::   วิชชาที่ ๔  เรียกว่า  ทิพยโสตญาณ
::   วิชชาที่ ๕  เรียกว่า  เจโตปริยญาณ
::   วิชชาที่ ๖  เรียกว่า  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
::   วิชชาที่ ๗  เรียกว่า  จุตูปปาตญาณ
::   วิชชาที่ ๘  เรียกว่า  อาสวักขยญาณ 

::   วิชชาที่ ๑  ถึงวิชชาที่ ๗  จัดเป็นวิชชาอย่างเดียว

::   ส่วนวิชชาที่ ๘  เป็นทั้งวิชชา & วิมุตติ

::   อาสวักขยญาณ..จึงเป็นจุดสิ้นสุดของวงจรพุทธธรรม 

::   วิชชา ๕ ประการข้างต้น  เป็นวิชชาอันประกอบด้วยฤทธิ์  คือ  :

::   วิชชาที่ ๑  เรียกว่า  วิปัสสนาญาณ
::   วิชชาที่ ๒  เรียกว่า  มโนมยิทธิญาณ
::   วิชชาที่ ๓  เรียกว่า  อิทธิวิธญาณ
::   วิชชาที่ ๔  เรียกว่า  ทิพยโสตญาณ
::   วิชชาที่ ๕  เรียกว่า  เจโตปริยญาณ 

::   ส่วนวิชชา ๓ ประการต่อมา  เป็นวิชชาเพื่อความตรัสรู้  คือ  :

::   วิชชาที่ ๖  เรียกว่า  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
::   วิชชาที่ ๗  เรียกว่า  จุตูปปาตญาณ
::   วิชชาที่ ๘  เรียกว่า  อาสวักขยญาณ
 

::   วิชชา & วิมุตติ  ในวงจรพุทธธรรม  จึงได้แก่  :
::   ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  เป็นวิชชาที่ ๑
::   จุตูปปาตญาณ  เป็นวิชชาที่ ๒
:   อาสวักขยญาณ  เป็นวิชชาที่ ๓
::   พระศาสดาทรงเรียกวิชชาทั้ง ๓ ประการนี้ว่า..วิชชา ๓ ***
::   โดยทรงเรียกผู้ได้วิชชา ๓ นี้ว่า..เตวิชชะ ***

 
ธัชชะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก