วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ


พุทธคุณ.... ธรรมคุณ.... สังฆคุณ
http://youtu.be/vtxOI8_15BI        พุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ

http://youtu.be/22HQVmt18GY  บทสรรเสริญ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คาถาพาหุง


พุทธคุณ...

คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ คือ
๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชา)
๔. สุคโต เสด็จไปดีแล้ว
๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งกว่า
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว
๙. ภควา เป็นผู้มีโชค

พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อมี ๒ คือ
๑. พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา
๒. พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา

หรือตามที่นิยมกล่าวกันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ
๑. พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา
๒. พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์
๓. พระมหากรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา

ธรรมคุณ

คุณของพระธรรมคุณมี ๖ ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรองเป็นบทสวดสำหรับน้อมนำระลึกไว้ในใจ ดังนี้

๑. สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วท่ามกลาง อันได้แก่ สมาธิและงามในที่สุด อันได้แก่ ปัญญา พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์หรือหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

๒. สันทิฏฐิโก หมายถึง ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้

๓. อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยการ ผู้ปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที นั่นคือ ให้ผลในลำดับแห่งบรรลุไม่เหมือนผลไม้อันให้ผลตามฤดูกาล

๔. เอหิปัสสิโก หมายถึง ควรเรียกให้มาดู พระธรรมเป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรเชิญชวนให้มาชมและพิสูจน์หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

๕. โอปนยิโก หมายถึง ควรน้อมเข้ามา ผู้ปฏิบัติควรน้อมเข้ามาไว้ในใจของตนหรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ

๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง

คุณของพระธรรมข้อที่ ๑ มีความหมายกว้าง รวมทั้งปริยัติธรรม คือ คำสั่งสอนด้วย ส่วนคุณของพระธรรมข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๖ มุ่งให้เป็นคุณของโลกุตตรธรรม

ดังนั้น เมื่อทราบความหมายของธรรมคุณ ๖ ทั้งหมดแล้ว การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญพระธรรมคุณในครั้งต่อๆ ไป คงจะทรงความหมายอย่างเปี่ยมล้น

อนึ่ง การน้อมนำคุณของพระธรรม เพื่อเจริญธัมมานุสตินั้น มีอานิสงส์มาก ดังที่ ปัญญา ใช้บางยาง ได้บอกไว้ในหนังสือธรรมาธิบาย เล่ม ๑ ว่า

- ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา
- ตระหนักและอ่อนน้อมในพระธรรม
- ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งคุณ มีศรัทธา เป็นต้น
- เป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์
- ทนต่อความกลัว ความตกใจ อดกลั้นต่อทุกข์
- รู้สึกว่าได้อยู่กับพระธรรม
- เป็นบาทฐานให้บรรลุธรรมอันยิ่ง
- เมื่อประสบกับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะ ย่อมปรากฏแก่เธอ
- เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่ง เธอย่อมมีสุคติต่อไป

สังฆคุณ
มี ๙ ประการ ๔ ประการแรกเป็นเหตุและ ๕ ประการหลังเป็นผลดังต่อไปนี้

๑.สุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น ผู้ปฏิบัติดีคือ ๑.ปฏิบัติไปตามมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลาง ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงเครียดนัก ๒.ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติได้ดีเท่าเดิม หรือก้าวหน้าสูงขึ้นไป ๓.ปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

๒.อุขุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น ผู้ปฏิบัติตรง คือ ๑. ไม่ปฏิบัติลวงโลก คือ ปฏิบัติต่อหน้าคนอย่างหนึ่ง ปฏิบัติลับหลังคนอีกอย่างหนึ่ง ๒. ไม่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวด คือปฏิบัติเพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่าตนปฏิบัติเคร่งครัดกว่าใคร ๆ ๓. ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธเจ้า และพระสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่งอน

๓.ญายปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทางคือ ๑.ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ๒.ปฏิบัติถือความถูกต้องเป็นสำคัญ ๓.ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้

๔.สามีจิปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติสมควรคือ ๑. ปฏิบัติน่านับถือ สมควรได้รับความเคารพ ๒.ปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง ๓.ปฏิบัติดีที่สุด

๕.อาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ คือ ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ด้วยว่าสิ่งที่เรียกว่าอาหุนะ เป็นของที่ท่านใช้บูชาคุณความดีของคน เมื่อพระสงฆ์ประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนั้น จึงควรแก่อาหุนะ คือสิ่งของคำนับ

๖.ปาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ คือ ผู้ปฏิบัติงามเช่นนี้ เมื่อท่านไปในบ้านเมืองใด ย่อมเป็นผู้สมควรแก่การต้อนรับเหมือนการต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ พระสงฆ์อยู่ในฐานะนั้น

๗.ทักขิเณยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาควรแก่สิ่งของทำบุญ คือ พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา แม้การอุทิศกุศลเพื่อผู้ตาย พระสงฆ์ก็จัดเป็นทักขิไณยบุคคล คือ ควรรับทักษิณาทานนั้น ๆ

๘.อัญชลีกรณีโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ พระสงฆ์เป็นผู้มีคุณความดีอยู่ในสันดาน ย่อมอยู่ในฐานะที่ใคร ๆ ควรแสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ เพราะทำให้ผู้ไหว้มีความรู้สึกว่าตนได้ไหว้ผู้ที่มีคุณธรรมสมควรแก่การไหว้ ทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ไหว้เจริญด้วยพรทั้ง ๔ ประการ อันได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ด้วย

๙.อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่บริจาคแก่พระสงฆ์ย่อมมีอานิสงส์มาก เปรียบเหมือนนามีดินดีและน้ำดำ พืชที่หว่านไปย่อมให้ผลไพบูลย์ จึงเป็นที่บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก