วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

หัวใจพุทธศาสนา

ท่านพุทธทาสได้แต่งหนังสือชื่อว่า ชีวิตคืออะไร โดยท่านได้อธิบายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้แก่กลไกการทำงานของขันธ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ เห็นว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นอนัตตา แต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ ที่ทำให้คนเห็นว่าเป็นอัตตา เป็นตัวกู ของกู จึงเกิดทุกข์ เมื่อไม่มีตัวกู ของกู ก็ไม่มีทุกข์
          ดังนั้น อุปาทานขันธ์ 5 หรือ ปัญจุปาทานขันธ์ จึงควรเป็นแก่น เป็นหัวใจของศาสนาพุทธ ใช่หรือไม่หัวใจของศาสนาพุทธอยู่ในอริยสัจ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีพระสมณะโคดม เป็นผู้ตรัสรู้ในหลักธรรม  อริยสัจ 4 เป็นหลักของศาสนาพุทธ หากจะวิเคราะห์ว่าสิ่งใดเป็นหัวใจแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียด พิจารณาดูเนื้อใน ภายใน จากอริยสัจทั้งสี่ข้อ เป็นต้นไป
อริยสัจสี่ ซึ่งประกอบด้วยสัจธรรม
          เรื่องแรก คือ ทุกข์ พระพุทธเจ้าเห็นว่า ปัญหาพื้นฐานของโลกนี้คือ ทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์ ต้องดิ้นรนหาปัจจัย เพื่อตอบสนองความต้องการทางกายทางใจ การแก่เป็นทุกข์ ไม่ว่าแก่ขึ้นหรือแก่ลง การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์ ความกลัวตายเป็นทุกข์ ความคับแค้นใจคับข้องใจเป็นทุกข์ การได้การพบกับสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่รัก ไม่ต้องการ สิ่งที่เราเกลียดกลัวเป็นทุกข์ การพลัดพราก สูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบ เป็นทุกข์ การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สรุปแล้วทุกข์เป็นตัวปัญหา
          เรื่องที่สอง คือ สาเหตุของปัญหา หรือ เหตุแห่งทุกข์ เรียกว่า สมุทัย สาเหตุสำคัญได้แก่ อนิจจัง คือความไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายที่ประกอบด้วย ธาตุต่างๆมารวมกันย่อม ไม่เสถียร ต้องเสื่อมสลายหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา กลไกของธรรมชาติสร้างให้คนเรา เพลิดเพลินในอารมณ์ จนเกิดอุปาทานยึดติดสิ่งต่างๆเหล่านั้น เป็น อัตตา เป็นตัวกูของกู เกิดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดตัณหา ความทะยานอยาก จึงเป็นทุกข์ การแก้ปัญหาคือต้องแก้ที่สาเหตุต่างๆเหล่านี้
          เรื่องที่สาม คือ การกำหนดสภาวะที่เป็นเป้าหมายสูงสุดที่ต้องบรรลุ เพื่อพ้นจากปัญหาอันได้แก่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า นิโรธ หรือ สภาวะของการดับสิ้นความทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่เกิดทุกข์อีก
          สุดท้าย คือ แนวทางปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การพ้นทุกข์ เรียกว่า มรรค ประกอบด้วย กิจกรรมที่ต้องปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจทั้งสิ้น 8 กิจกรรมด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจ จนเกิดความเห็นชอบ หรือ สัมมาทิฐิ ปฏิบัติเรื่อยไป จนถึงการเจริญสมาธิ วิปัสสนา ตามแนวทางที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิการพิจารณา อริยสัจ ทั้ง 4 เพื่อค้นหาสิ่งที่เป็นแก่น เป็นหัวใจของศาสนา 

          ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือจุดเริ่มต้นของศาสนา คือศาสนาพุทธ คือแก่นแท้ เนื้อแท้ของศาสนา เป็นวิถีของชาวพุทธ ผู้ที่จะหาหัวใจของศาสนาจำเป็นต้องศึกษาจาก มรรคทั้ง 8 ข้อ เหล่านี้มรรคแปดคือ แก่นของศาสนาพุทธ
ดังที่กล่าวมาแล้ว มรรค 8 คือแก่นแท้ คือเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ เปรียบเสมือนร่างกาย หัวใจของศาสนาจึงเปรียบเสมือน หัวใจของร่างกาย หากหัวใจหยุดทำงาน ร่างกายต้องหยุด ต้องตายภายใน 5 นาที หัวใจของศาสนาเป็นเช่นเดียวกัน หากศาสนาขาดสิ่งที่เป็นหัวใจ ศาสนาต้องหยุด ต้องดับสิ้นลงเช่นกัน เพื่อรักษาศาสนาให้เป็นไป จำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นหัวใจ ต้องดูแลรักษา ต้องปฎิบัติให้ถูกให้ควร การค้นหาหัวใจของศาสนาต้องค้นหาภายในกาย หรือ ในมรรคทั้งแปดข้อนั่นเอง

มรรคข้อแรก คือ ความเห็นชอบ   ต้องศึกษาให้รู้และหมั่นพิจารณาให้เข้าใจแท้ ว่าโลกนี้ ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดจากความไม่เที่ยง ของสังขารของธาตุทั้งหลายที่ไม่เสถียร ทุกข์เกิดจากอุปาทานขันธ์ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตา ทุกข์เกิดจาก กิเลส ตัณหา ภายในกาย ภายในใจ แล้วกำหนดจิตให้ รู้สึกเกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์และ รู้สึกต้องการ พ้นทุกข์ตามวิถีของชาวพุทธ เหล่านี้ คือความเห็นชอบ หรือ สัมมาทิฐิ
มรรคข้อที่สอง คือ การดำริชอบ เมื่อเกิดความเห็นชอบ ต้องการพ้นทุกข์   ต้องริเริ่มการกระทำอย่างง่ายๆก่อน ง่ายที่สุดคือการทำใจ เพื่อ ให้บริสุทธิ์ เพื่อให้ปราศจากซึ่งราคะ หรือ อยู่ในสภาวะของวิราคะ โดยพยายามระงับความครุ่นคิดหมกมุ่น ในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้แก่เรื่องความพยาบาท หรือ ละพยาบาทวิตก โดยพยายามระงับความคิดพยาบาท ผู้ที่เคยทำร้าย ทำเวรทำกรรมกับเรา เลิกวิตกกับมัน ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้อะไร ทุกข์ใจไปเปล่า ระงับความ ครุ่นคิดหมกมุ่นเรื่องกาม หรือ ละกามวิตก เรื่องกามนี้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเพศ แต่ที่แท้จริงแล้วประกอบด้วยหลายอย่าง เช่น รูปคือสิ่งที่เห็นที่สวยงาม น่าชื่นชมน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ หรือธรรมชาติรอบตัว รสของอาหารที่ถูกปาก กลิ่นที่น่าสูดดมน่าชื่นใจ เสียงคน เสียงดนตรีหรือเสียงเพลงที่เราชอบ ตลอดจนการสัมผัสที่อบอุ่นหรือที่เร้าใจ เหล่านี้เป็นเรื่องของกามาทั้งสิ้น และ สุดท้ายคือเรื่องของ วิหิงสาวิตก คือการละความคิดหมกมุ่นที่จะทำร้าย เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อยากทรมาน อยากซาดิสท์ การดำริหรือริเริ่มในการละวิตกต่างๆเหล่านี้ หมายความว่าเรา คิดได้ แต่อย่าคิดหมกมุ่น ให้รีบตัดออกจากใจ ทันทีที่ได้รู้สึกตัว หากฝึกทำขั้นนี้ได้สมองจะปลอดโปร่ง จิตใจสงบ สบายขึ้น เป็นการควบคุมใจ โดยการควบคุมความคิดอย่างง่ายๆ คือ การดำริชอบ หรือ สัมมาสังกัปปะ
มรรคข้อที่สาม คือการเจรจาชอบ หรือ วาจาชอบ เป็นการฝึกควบคุม หรือฝึกบังคับใจ โดยวิธีการสำรวมคำพูด กำหนดว่าสิ่งใดควรหลีกเลี่ยงไม่ควรพูด อย่างแรกคือการไม่พูดโกหก อย่างที่สอง คือการไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเรื่องเลวเรื่องร้ายของผู้อื่น อย่างที่สาม การไม่พูดหยาบคาย และ เรื่องที่สี่คือการไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ซึ่งสามเรื่องแรกคือ การพูดโกหก การพูดส่อเสียด และการพูดหยาบคาย คนเราพูดสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของตัวเอง ไม่ว่าเป็นประโยชน์ทางกายหรือทางใจ เป็นการเสริมสร้างกิเลส เสริมสร้างอัตตา ให้กับตน การระงับใจไม่ให้พูด เป็นการฝึกในการระงับ กิเลส ตัณหา ลด อัตตา ตัวกูของกู ลงได้ส่วนหนึ่ง ส่วนการไม่พูด เพ้อเจ้อ นั้นเป็นการควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ให้คิดแต่สิ่งที่เป็นธรรมะ เป็นประโยชน์ เหล่านี้คือ วาจาชอบ หรือ สัมมาวาจา
มรรคข้อที่สี่ คือ การกระทำชอบ หลังจากเรา ควบคุมความคิดความวิตก ควบคุมวาจาควบคุมคำพูดได้แล้ว ต้องเริ่มปฏิบัติจริงจัง คือเริ่มการกระทำที่เป็นรูปธรรม สิ่งแรกคือ การควบคุมทั้ง กาย วาจา และ ใจ ไปพร้อมกัน ได้แก่การถือศีล เริ่มตั้งแต่ศีล 5 ที่เป็น การถือศีลขั้นต้นของฆราวาส ได้แก่การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่ล้วนทำเพื่อสนองตัณหาสนองอัตตาของตน หรือ ตัวกู การไม่ลักขโมย ไม่หวังลาภที่ไม่ควรได้ ไม่ละโมภ ไม่ยึดติดกับสิ่งของ หรือ ของกู การไม่ประพฤติผิด หลงมัวเมาในกาม รูป รส กลื่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นการระงับ กิเลส และ ตัณหาในระดับหนึ่ง การไม่พูดเท็จ พูดเสริมสร้างอัตตาตัวกู สุดท้ายคือ การละเว้นการดื่มของมึนเมา ซึ่งทำลายร่างกาย ทำลายประสาทสมอง ทำให้ ความคิด ปัญญา ตลอดจนสติสัมปชัญญะ บกพร่องพิการ นอกจากถือศีล 5 แล้วยังต้องถือศีลมากขึ้นไปเป็นศีล 8 ศีล 10 จนกระทั่งถึงวินัย ทั้ง 227 ข้อของพระสงฆ์ การถือศีลทั้งหลายจึงนับว่า เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมขั้นแรกในการปฏิบัติธรรม นอกจากการถือศีลแล้ว มรรคที่เหลืออีกทั้ง 4 ข้อ ต่อจากนี้ถือเป็นการกระทำชอบ หรือ สัมมากัมมันตะ ทั้งสิ้น

มรรคข้อที่ห้า คือ การประกอบอาชีพ การยังชีพ หรือ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่การประกอบอาชีพหรือมีวิถีทางยังชีพตามแบบแผนที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การพ้นทุกข์ ยกตัวอย่างง่ายๆคือการยังชีพเช่นพระสงฆ์ที่เป็นพระแท้พระจริง เป็นพระอาชีพ ไม่ใช่อาชีพพระ เช่น หลวงพ่อเกษมเขมโก ที่จังหวัดลำปางเป็นตัวอย่างที่ดีของพระสงฆ์ ใช้ชีวิตอย่างสมถะ กินน้อย กินเพื่อเหตุผลเพียงเพื่อดำรงชีวิตดำรงสติและปัญญาเท่านั้น ไม่ลุ่มหลงในรสอาหารกินจน เกินความจำเป็นจนร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ เมื่อร่างกายสมบูรณ์มากมักเกิดกำหนัดกามตัณหามากควบคุมได้ยาก ออกจากนี้ยังต้องละอุบายหรือหลุมพราง สำคัญที่ทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่น นั่นคือความเป็นเจ้าของ ต้องละซึ่งความเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ไม่มีสมบัติติดตัว หรือมีเท่าที่จำเป็น พออยู่ พออาศัย ละทิ้งแม้แต่ชื่อตัวเอง บริจาคทาน ถือศีลบำเพ็ญภาวนา เป็นกิจวัตร เหล่านี้คือ การประกอบอาชีพชอบ หรือ สัมมาอาชีวะ
มรรคข้อที่หก คือ ความเพียรชอบ ต้องมีความมานะพยายาม ละหลีกเลี่ยงการทำสิ่งที่เป็นอกุศล พยายามปฏิบัติธรรม สร้างกุศล สิ่งสำคัญคือต้องทำแต่เพียงพอดี พอดี โดยยึดหลัก มัชฌิมาปฏิปทา ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ยาวไป ไม่สั้นไป ไม่นานไป ไม่เร็วไป ไม่หยาบไป ไม่ละเอียดไป ไม่หนักไป ไม่เบาไป ทำเพียงพอดี พอดี จุดพอดีของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ต่างๆ คนต้องหาความพอดีของตัวเอง จะเอาความพอดีของตัวไปแนะนำ ไปวัดไปเทียบกับคนอื่นไม่ได้ เหล่านี้ คือ ความเพียรชอบ หรือ สัมมาวายามะ
มรรคข้อที่เจ็ด สติชอบ คือมีสติ ตั้งสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก หรือ อาณาปาณะสติ เมื่อใดที่รู้สีกตัวว่ากำลังหายใจอยู่ เมื่อนั้นก็มีสติ และใช้สติเฝ้าระวังผลกระทบ ทางกายทางใจสี่เรื่อง หรือ สติปัฎฐานสี่ ได้แก่กายยานุสติ คือการตั้งจิตรู้ตัวหรือรับรู้ให้ได้เร็วที่สุด ว่ามีสิ่งใดมาสัมผัสกาย มีสิ่งใดมาสัมผัสใจ เวทนานุสติ คือการตั้งสติรู้ตัวหรือรับรู้ให้ได้เร็วที่สุดว่า กำลังสุขกายสุขใจ หรือทุกข์กายทุกข์ใจ มี ปิติ ปราโมทย์หรือไม่อย่างไร จิตตานุสติ คือการตั้งสติรู้ตัวหรือรับรู้ให้ได้เร็วที่สุดว่า ขณะนั้น สภาวะจิตเป็นอย่างไร เฉยๆ หดหู่ หรือ ลิงโลด เป็น กามาวะจร มุ่งฝักใฝ่เรื่องกาม หรือ เป็นกุศล ใฝ่ธรรม หรือ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ธรรมมานุสติ คือการตั้งสติรู้ตัวหรือรับรู้ให้ได้เร็วที่สุดว่า สิ่งต่างๆที่รับรู้รับสัมผัสทางกายทางใจ กายานุสติ และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในใจ เวทนานุสติ จิตตานุสติ เหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร กลไกของร่างกาย ของชีวิต คือขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทำงานกันอย่างไร ตั้งสติรู้ตัวหรือรับรู้ให้ได้เร็วที่สุดว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่น เมื่อถูกตี ก็ต้องเจ็บ เป็นธรรมดา เมื่อแล้วเจ็บกายยังไม่พอ ยังเจ็บใจตามมาอีก ก็เป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อเจ็บใจแล้วยังไม่พอ ก็เกิดพยาบาทเคียดแค้นเป็นทุกข์อีก ก็เป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ เป็นอนัตตา หากมีสติรู้ตัวอย่างนี้ได้ ขอให้พยายามตัดตอนไม่ให้เกิดทุกข์ และ คอยระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุอีกในคราวหน้าคราวต่อไป เหล่านี้ คือ สติชอบ หรือ สัมมาสติ
มรรคข้อที่แปด ข้อสุดท้าย คือ สัมมาสมาธิ ได้แก่ สมาธิชอบ สมาธิคือการทำจิตให้เป็นหนึ่ง โดยใช้การวิตก และวิจาร คือ การเพ่งพินิจมุ่งที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ประกอบกับการรักษาอารมณ์ให้คงที่ให้สม่ำเสมอ จนกระทั่งถึงสภาวะจิตที่เรียกว่า ฌานสมาบัติ จะเกิดปิติ สุข มีนิมิตต่างๆ และมีความสามารถทางจิตซึ่งเป็นจุดที่อันตรายที่สุดของชาวพุทธ ถ้าหากหลงไปดีใจ หันไปหลงไหลกับอำนาจจิตที่เกิดขึ้น ใช้สมาธิในทางที่ผิด ดูหมอ ใบ้หวย เห็นนรก เห็นสวรรค์ สร้างเครื่องรางของขลัง นับเป็นอวิชชา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ที่ถูกต้องหรือ เป็นสัมมา คือเมื่อถึงฌานแล้ว จะสามารถระงับ วิตก วิจาร ที่เราใช้เป็นเครื่องมือในการทำสมาธิ เกิดปิติ สุข ให้ใช้หลักของอุเบกขา ระงับ ปิติ สุข ที่เกิดขึ้น เกิดนิมิต อย่าหลงใหล ให้ใช้สติซึ่งเป็นสติที่บริสุทธิ์ พิจารณา ให้ใช้ สติปัฏฐานทั้ง 4 พิจารณาธรรม ให้เห็นธรรม อย่างนี้นับเป็นสัมมาสมาธิหัวใจของศาสนาพุทธ
หากเปรียบศาสนาเช่นชีวิต เมื่อมีการเคลื่อนไหวมีการปฏิบัติ คือมีชีวิต เมื่อไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการเคลื่อนไหว คือ ตาย คือ ไม่มีชีวิต ดังนั้น ในบรรดามรรคทั้ง 8 ข้อ สัมมากัมมันตะ หรือ การกระทำชอบ การกระทำตามวิถีของชาวพุทธ ได้แก่การเลี้ยงชีพ การรักษาศีล การมีสติ การทำสมาธิภาวนา เป็นสิ่งที่ทำให้ศาสนาเคลื่อนไหว หากไม่มีการกระทำหรือปฏิบัติตามกล่าว ศาสนาย่อมหยุดนิ่งคือตายไป หรือชาวพุทธ ที่หยุดปฏิบัติ ย่อมนับไม่ใช่ชาวพุทธ หรือตายจากศาสนาพุทธ กล่าวโดยย่อ ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติธรรม ตามหลักของศาสนาพุทธ ตราบนั้นศาสนาพุทธก็ยังคงมีอยู่ การปฏิบัติธรรม เริ่มจาก ศีล สมาธิ สติ และปัญญาตามลำดับ โดยมีการถือศีล เป็นพื้นฐานขั้นต้น และเป็นพื้นฐานทีสำคัญ เป็นการควบคุมการกระทำทั้งทางกาย วาจา และ ใจ ไปพร้อมๆกัน หากไม่ถือศีลแล้วย่อมปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆต่อไปได้ยาก หรือผิดทิศ หลงทาง ดังที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ พระสงฆ์ที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองอยู่วัด แต่ไม่ถือศีล เราจะนับว่าเป็นพระหรือไม่ คนธรรมดาอ้างว่าถือศาสนาพุทธ แต่ไม่รับศีลห้า ยังนับว่าเขาเชื่อฟัง คำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ ดังนั้น ศีลคือการปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ ศีล 5 เป็นข้อกำหนดสำหรับอริยสาวก ศีลปาติโมกข์ เป็นข้อกำหนดสำหรับพระสงฆ์ ศีลจึงเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ เมื่อหัวใจทำงาน หรือรักษาศีลได้แล้ว กลไกต่างๆของร่างกาย ของศาสนา สมาธิ สติ ปัญญา จึงจะทำงานได้อย่างถูกต้องตามหน้าที่ หากไม่มีใครถือศีล ถึงปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ใช่พุทธ หากถือศีลแล้วแต่ไม่ปฏิบัติธรรมข้ออื่น อีกเรายังนับเป็นพุทธได้บทสรุป พระพุทธเจ้าได้แสดง พระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว นับเป็นการประกาศศาสนาพุทธครั้งแรกในโลก มีหลักสำคัญของศาสนา 4 ข้อ คือ อริยสัจ 4 ในหลักอริยสัจทั้งสี่ อริยสัจข้อสุดท้ายคือ มรรค หรือ มรรค 8 เป็นวิถีทางที่พระพุทธเจ้าค้นพบ และสั่งสอนให้ผู้คนนำไปปฏิบัติผู้ที่ปฏิบัติตามถือได้ว่าเป็นชาวพุทธ เมื่อมีผู้ปฏิบัติสืบเนื่อง มีผู้นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธก็ยังคงอยู่ ยังไม่ตายในมรรคทั้งแปดนั้น สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ เป็นการปฏิบัติ ที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ประกอบด้วยศีล สมาธิ สติ และปัญญา โดยมีการถือศีลเป็นพื้นฐานขั้นต้น และ เป็นปัจจัยสำคัญ ในการปฏิบัติธรรม ตามหลักของศาสนาพุทธ การกำหนดว่า ใครเป็นพระในศาสนาพุทธ ให้ดูที่การถือ อุโบสถศีล และ ศีลปาติโมกข์ การกำหนดว่า ใครเป็นชาวพุทธให้ดูที่การถือศีล 5 ศีลเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขั้นแรกที่ทำได้ง่ายที่สุด คือการละเว้นไม่ทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้าม ผู้คนที่เรียกตัวเองว่า ชาวพุทธแต่ไม่ถือศีล ไม่ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ยังเรียกได้ว่า นับถือศาสนาพุทธ นับถือพระพุทธเจ้าหรือไม่สรุปแล้ว ศีลคือการปฏิบัติ ที่เป็นเบื้องต้น ที่ปฏิบัติ ได้ง่าย ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ในศาสนาพุทธ หากไม่มีใครถือศีล ถึงปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ใช่พุทธ ศาสนาพุทธก็จะหยุดก็จะจบสิ้นลงไป การรักษาศาสนาไว้ให้อยู่คือ การทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือการรักษาศีล ศีลจึงเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ สมควรชักชวนกันเผยแพร่ให้ผู้คนถือศีลเป็นกิจวัตร เพื่อให้ศาสนาพุทธคงอยู่สืบไป

สรุปรวบยอดคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพจิตให้สูงยิ่งขึ้น
แนวทางการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพจิตให้สูงขึ้น
1.รู้เท่าทันอารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง
ทุกข์ของมนุษย์เกิดจาก ความคิด ฉะนั้น ถ้าจะหยุดทุกข์ก็ต้องหยุดคิด การหยุดความคิดในที่นี้คือ การหยุดคิดในสิ่งที่เศร้าหมองในอดีต และหยุดกังวลถึง เรื่องในอนาคตที่ยังมามาถึง โดยการเฝ้ามองดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งอารมณ์สุข ทุกข์ หรืออารมณ์เฉย ๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะช่วยให้จิตกลับเข้าสู่ความเป็นกลางและเกิดความสงบ และเมื่อจะเริ่มคิดก็ให้เลือกคิดแต่สิ่งที่ดี ๆ มีประโยชน์และสร้างสรรค์ มนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่า ตัวเองกำลังถูกความคิดลากไปเรื่องแล้วเรื่องเล่า หรือรู้ว่ากำลังคิด แต่ไม่รู้จักเลือกเรื่องที่คิด เพราะคิดเรื่อง เศร้าหมอง จนเป็นนิสัย หรือรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้น ก่อให้เกิดความทุกข์ แต่ไม่สามารถพาตัวเอง ออกจากความคิดเหล่านั้นได้ เพราะไม่มีกำลังสมาธิเพียงพอ
2. นิ่งก่อนจิตจึงจะคิดได้
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มนุษย์อาจจะรู้ว่า สิ่งที่ตนเองคิดอยู่นั้นก่อให้เกิดทุกข์แต่ไม่รู้ว่าจะออกจากกองทุกข์นั้นได้อย่างไร หรือขณะที่กำลังขบคิดแก้ปัญหา แต่คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ก่อให้เกิดความสับสน และว้าวุ่นเป็นอย่างมาก เมื่อจิตเกิดความไม่สงบด้วยนิวรณ์ ๕ อันประกอบด้วย ความอยากมีอยากเป็นอยากได้ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็นไม่อยากได้ การหมกมุ่นในกามตัณหา ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต ความฟุ้งซ่านสับสน และความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ จิตจะไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ สภาวะจิตเช่นนี้ นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เรายิ่งทุกข์และยิ่งแก้ไขปัญหาไม่ออกเหมือนเดิม หรืออาจจะมีปัญหอื่นตามมาอีก เป็นทวีคูณ ฉะนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหานี้คือ การหยุดคิดและให้ลืมปัญหา ลืมตัวเอง ลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปชั่วขณะหนึ่ง โดยการสวดมนต์ หรือ ทำสมาธิโดย การจดจ่ออยู่กับลมหายใจ โดยไม่คิดเรื่องอื่น จิตจึงจะมีเริ่มมีพลัง สภาวะจิตนี้ เองจึงจะเหมาะแก่ การนำไปขบคิด เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อออกจากกองทุกข์ และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ
นอกจากนั้น ในสภาวะปกติ เมื่อไม่มีความทุกข์ใด ๆ ก็ให้หมั่นสวดมนต์ ทำสมาธิและให้นำพลังสมาธินี้ ไปใช้เพื่อเฝ้ามองดู อารมณ์ใน ชีวิตประจำวัน และฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถ เพื่อทำลายนิสัยเก่า ๆ ที่เคยชินกับความคิดเดิม ๆ ที่เศร้าหมองและสับสน และสร้างนิสัยใหม่ ในการเลือกความคิด คิดแต่ในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อไป
3. พูดทีละคำฟังทีละเสียง
คนส่วนใหญ่มักไม่ได้ยินเสียงที่ตัวเองพูด ไม่รู้ว่าตนเองกำลังพูดอะไร พูดไปทำไม พูดแล้วจะเกิดอะไร พูดและไม่พูดผลต่างกันอย่างไร สักแต่ว่าพูด ๆ ไป ตามความคิดที่ผุดขึ้นมาตาม ความเคยชิน ฉะนั้น มนุษย์จึงมักชอบพูดเพ้อเจ้อ พูดนินทา พูดส่อเสียด พูดคำผรุสวาท พูดโกหกจนเป็นนิสัยโดยที่ไม่รู้ตัว การพูดโดยขาดสติ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความรู้สึก ในขณะที่พูดนั้น ย่อมให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าหมองใจ โดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัว ฉะนั้น วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือแก้ไขที่ต้นเหตุคือ ให้คิดก่อนพูดและต้องได้ยินในสิ่งที่ตนเองกำลังพูดออกมา
4. ทำจิตใจให้ผ่องใสและสบาย
การเพียรพยายามประคับประคองจิตใจให้มีความผ่องใสเบิกบานนั้น มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1. รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ก่อนเพื่อทำให้จิตสามารถตั้งอยู่ได้การผิดศีล
ข้อหนึ่งคือ การฆ่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตหรือการรังแกให้เกิดความเดือดร้อนจะทำแต่ความโหดเหี้ยม หยาบกระด้าง ไร้ความรู้สึก ข้อสองคือ การลักทรัพย์และ
ข้อสามคือ การประพฤติผิดในกาม นอกใจสามีภรรยาหรือแม้แต่คู่รักของตน ไร้ซึ่งความสงบในจิตใจ
ข้อที่สี่คือ  การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ การพูดมากโดยขาดสติจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านขาดความสงบ ข้อที่ห้าคือ การดื่มสุราหรือของมึนเมา จะทำให้ขาดสติ และขาดความยับยังชั่งใจ สามารถก่ออกุศลกรรมมากมาย ขาดความสงบ
2. มีสติรู้เท่าทันสภาวะจิตของตนเองว่า ในขณะนี้เรากำลังทุกข์ทรมานอึดอัด หรือผ่องใสเบาสบาย
3. มีสมาธิเพื่อใช้ในการมองและรู้เท่าทันสภาวะจิตอย่างต่อเนื่อง
4. ใช้ปัญญาในการข่มจิตเพื่อประคับประคองจิตในกรณีที่จิตในเกิดการปรุงแต่งจนเกิดเป็นอารมณ์เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความยินดี 
5. รู้จักและเข้าใจระบบความคิดของตนเองในเรื่อง นิวรณ์ ๕
ในขณะที่เราพยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่นั้น พยายามเท่าไรก็ไม่ผ่องใส ให้พิจารณาสาเหตุของความไม่ผ่องใสนั้น ๆ ซึ่งมักหนีไม่พ้นเรื่อง นิวรณ์ ๕ ได้แก่
1. ความอยากมีอยากเป็นอยากได้และกามตัณหา
ผู้ที่หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความสุขเพื่อตอบสนองความสุขทางกายวาจาและใจเช่น การอยากมองสิ่งที่สวยงาม รับประทานอาหารที่มีรสอร่อย และได้ยินเสียงที่ไพเราะ เป็นต้น และรวมไปถึงการหมกมุ่นในกามราคะด้วย วิธีแก้ไขอาการหมกมุ่นดังกล่าวคือ การสวดมนต์ไหว้พระทำสมาธิและหัดถามตัวเองว่า ถ้าเรายังคงหมกมุ่นอยู่กับสิ่งพวกนี้ไปเรื่อย ๆ ต่อไปในอนาคต ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เราจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง หรือในกรณีที่อกหักให้พิจารณาว่า สิ่งไหนเป็นของเราก็เป็นของเรา อันไหนไม่ใช่ก็ไม่ใช่ และไม่ควรคิดทำร้ายตัวเอง เราต้องหัดรักตัวเองก่อนเพราะถ้าเรารักตัวเองไม่เป็นแล้วเราจะรักผู้อื่นเป็นได้อย่างไร
2. ความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาท
การที่เรามีความอึดอัดโกรธเกลียดอยู่เป็นประจำ จะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม และด้วยนิสัยโกรธง่ายนี้จะทำให้เราเป็นที่น่ารังเกียจต่อคนรอบข้าง การทำงานในยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม หากเราไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้ แล้วเราจะประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดความอึดอัดไม่สบายใจ ให้ลองย้อนกลับมาดูตัวเองบ้างว่า เรามีส่วนอะไรบ้างกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเช่น การการทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะเราพลั้งปากไปว่าอีกฝ่ายหรือเปล่า หรือเราพูดมากเกินไปจนอีกฝ่ายรู้ความลับและนำความลับดังกล่าวมาหักหลังจนเกิดเป็นเรื่องราวบานปลาย หรือเราอาจจะชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ นิดนึงก็ไม่ได้นิดนึงก็ไม่ยอม ไม่รู้จักปล่อยวาง เป็นต้น เมื่อมีความหงุดหงิดใจให้พิจารณาถึงสาเหตุ เพราะสิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนเกิดแต่เหตุ ซึ่งมักมี “เรา” เข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ แต่เรากลับมองไม่ออกเพราะเรามักกล่าวโทษผู้อื่นก่อนเมื่อมีหายนะหรือความอึดอัด เศร้าหมองต่าง ๆ เกิดขึ้นกับเรา
3. ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต
วิธีแก้ไขคือ ให้ถามตัวเองว่า ก่อนจะจากโลกนี้ไปเราอยากทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคมและเพื่อนมนุษย์บ้าง และเราอยากให้คนข้างหลังจดจำตัวเราได้ในลักษณะใด แล้ว ณ วันนี้เราลงมือทำแล้วหรือยัง
4. ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
ผู้ที่มีความฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์ จะพูดไม่หยุดและมีคิดผุดขึ้นมาในใจตลอดเวลา อารมณ์ไม่คงที่ คิดในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา ชอบจับผิดผู้อื่น ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความสงบและสบายใจ ขยันแต่ไม่ตรงจุด เป็นเจ้าความคิดแต่คิดไม่ตรงประเด็น วิธีแก้ไขคือ พยายามควบคุมความคิดโดยการ
  • ฝึกสมาธิแบบอาณาปาณสติหรือการทำสมาธิโดยการจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก เพื่อลดระดับความคิดให้ลดลงในระดับหนึ่ง
  • หลังจากทำสมาธิแล้วให้ฝึกดูอารมณ์ตลอดเวลาสุข-ทุกข์-เฉย เพื่อฝึกให้จิตมีความรู้สึก ความคิดจึงจะเปลี่ยนรูปแบบเอง คนที่ฟุ้งซ่านจะฟุ้งน้อยลง คนที่โหดร้ายจะมีเมตตามากขึ้น
  • แม้ว่าจะพยายามทำสมาธิหรือดูอารมณ์แล้ว ก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ให้ใช้ความคิดกล่อมจิตเช่น ให้ถามตัวเองว่า “การที่คิดมาก ๆ มันดีจริงหรือ ถ้ามันดีจริงแล้ว ทำไมชีวิตเราไม่เห็นดีขึ้นเลย” “คิดเยอะแยะแต่ไม่เห็นจะตรงประเด็น นี่หรือคือความคิดที่ดี” หรือถ้าเรากำลังจะคิด ในแง่ลบให้นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ถ้าจะคิดก็ให้คิดแต่สิ่งที่ดี คิดแต่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข คิดแต่ในสิ่งที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น” เป็นต้น
  • ถ้าจะคิดให้คิดเป็นภาพ ความฟุ้งซ่านจะน้อยลง
5. ลังเลสงสัย
ผู้ที่มีความลังเลสงสัยจะมีความสับสนและไม่มั่นใจอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะลงมือกระทำเพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความผิดหวัง กลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ และกลัวว่าสิ่งนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง วิธีแก้ไขคือ
  • อย่าโลภมากนัก ไม่มีสิ่งไหนที่ดีที่สุดในโลกนี้ แต่จงเลือกทำในสิ่งที่จะสร้างความเดือดร้อน ให้แก่ตนเองและผู้อื่นให้น้อยที่สุด
  • คิดเป็นภาพ การคิดเป็นภาพจะทำให้เราเห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากทั้งสองเหตุการณ์ที่เรากำลังสับสนและลังเลสงสัยอยู่ เมื่อสร้างภาพแล้วให้ถามความรู้สึกว่า การตัดสินใจอันไหนเราทำแล้วเราสบายใจและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นน้อยที่สุด นั่นแหละคือทางออก
  • กล้าที่ลงมือกระทำ อย่ากลัวความผิดพลาด คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยลงมือกระทำอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ใจกล้าบ้าบิ่น ให้พิจารณาพอสมควร พิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเราและผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาแล้วให้ “ตัดใจ” ลงมือกระทำทันที และจงตระหนักอยู่ในใจเสมอว่าชีวิตนี้ไม่ได้ยาวมากนัก และจงอย่ากลัวการผิดพลาด การเสียใจและการได้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดก็ยังไม่น่าเสียดายและน่าเสียใจเท่ากับการที่เราไม่ได้แม้แต่จะลงมือกระทำใด ๆ เลย
  • อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองอึดอัดหรือทำในสิ่งที่คนอื่นเดือดร้อน
  • ฝึกสมาธิแบบอาณาปาณสติและเฝ้ามองดูอารมณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณความคิดที่สับสนและงงงวย ยิ่งมีสมาธิ ความลังเลสงสัยก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย
ท้ายสุดของบทรวบรวมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ
กุศลต้องสร้าง
อกุศลกรรมให้บรรเทา
และพยายามประคับประคองให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก