วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

วิธีหาจิต หลวงปู่เทสก์

วิธีหาจิต
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
คัดลอกจาก www.manager.co.th
 
วันนี้จะอธิบายถึงเรื่องวิธีหาจิต จิต เป็นของสำคัญที่สุด เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องมีจิตทุกคน แต่หากเราไม่ เห็นจิต เราเกิดมาก็เพราะจิต เป็นอยู่ก็เพราะจิต เราจะตายไปก็เพราะจิต จิตแท้นั้นคืออะไร จิตนี้ไม่มีตัวมีตน มองก็ไม่เห็น ความรู้สึกความนึกความคิดนั่นแหละคือ ตัวจิต เพราะฉะนั้น ลืมตาจึงมองไม่เห็น ถ้าหลับตาแล้วเห็นหรอก
ถ้าหากเราไม่เห็นตัวจิต จิตมันจะพาเราไปเที่ยวฟอนทุกสิ่งทุกอย่าง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงหมดเกิดจากจิตทั้งนั้น ที่ท่านพูดถึงเรื่อง เจตสิก ก็คืออาการของจิตที่เรียกว่ากิเลสทั้งหลายร้อยแปดพันประการนั้นก็เกิดจากจิตอันเดียว ผู้ที่รู้มากมายหลายเรื่องก็ว่าไปตามตำรา แต่ตัวจิตแท้ไม่เห็น กิเลสตัณหาก็ว่าไปตามเรื่องตามราวตั้งแต่ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เรื่อยไป ขันธ์ ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมลงมามี ๒ อย่าง คือ รูปกับนาม รูปมองเห็นได้ แต่นามคือจิต มองไม่เห็น
ทำอย่างไรจึงจะเห็นจิต ถ้ามิฉะนั้น จิตก็จะพาเราว่อนอยู่อย่างนั้นแหละ เที่ยวเหนือล่องใต้ไปทั่วทุกทิศทุกทาง ถ้าเราคุมจิตไม่อยู่ รักษาจิตไม่ได้ ก็จะพาให้เราทุกข์เร่าร้อน เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ถ้าไม่มีจิตแล้ว ตัวของเราก็เหมือน กับท่อนไม้ท่อนฟืน ใครจะสับจะบั่น ใครจะเผาจะอะไรๆ ต่างๆ ไม่รู้สึกทั้งนั้น การปรากฏเห็นภาพทางตา เขาเรียกว่า จิต แต่คนไม่เห็นตัวจิต คือตาเห็นภาพนั่นน่ะ เข้าใจว่าจิตเห็น ไม่ใช่จิต ตาเห็นต่างหาก แสงกระทบเข้ามาก็เห็นเท่านั้น หูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน เสียงมาเข้าหูกระทบกันเข้ามันก็ได้ยิน จมูกสูดกลิ่น ลิ้นถูก รส กายสัมผัสอะไรต่างๆ อันนั้นไม่ใช่ตัวจิต เป็นเรื่องกระทบกันต่างหาก กระทบกันแล้วก็หายไป ถ้าเช่นนั้น จิตมันอยู่ที่ไหน ให้ลองหาดูในตัวเรานี่แหละ หาให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ดูว่าจิตแท้มันอยู่ที่ไหนกัน เมื่อหาจิตไม่เห็นแล้ว คนที่หาน่ะไม่เห็น คนไหนเป็นคนหา มันยังมีซ้อนอีก ใครเป็นคนค้นหา สิ่งที่ไปหานั้นเห็น แต่ผู้หาไม่เห็น อย่างว่าเห็นรูป รูปนั้นเห็นแล้ว แต่ผู้เห็นน่ะใครเป็นคน เห็น มันต้องหาตัวนั้นซีจึงจะเห็น
จิตมันต้องเป็นหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หนึ่งแล้วก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นหนึ่งกลายเป็นใจละคราวนี้ ตัวจิตนั่นแหละกลายเป็นใจ อันที่นิ่ง เฉย ไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง ความรู้สึกเฉยๆ นั่นแหละมันกลายเป็นใจ จิตมันกลายเป็นใจ ในหนังสือต่างๆ ก็ พูดอยู่หรอกจิตอันใดใจอันนั้น ใจอันใดจิตอันนั้น บางแห่งท่านก็พูดเป็นจิต บางแห่งท่านก็พูดเป็นใจ อย่างท่านพูดว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายมีใจอันถึงก่อน มโนคือใจ ผู้นึกผู้น้อมทีแรก นั่นแหละ ไม่ใช่คิด นึกน้อมทีแรกนั้นแหละคือตัวใจ มโนเสฎฐา มโนมยา ใจเป็นของประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ ท่านพูดถึงเรื่อง มโนคือใจ คราวนี้พูดถึงเรื่อง จิต ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุ เกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ จิตเป็นของประสัสสร คือมันผ่องใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา อาคันตุกกิเลสต่างหาก มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา นี่พูดเรื่อง จิต ให้คิดดูว่า หากจิตเดิมเป็นของเศร้าหมองแล้ว ใครจะทำให้บริสุทธิ์ได้ ไม่มี เลย เหตุนั้นท่านจึงว่า ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ จิตเป็นของประภัสสรตลอดเวลา ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าจิตประภัสสร จิตกับใจเข้ามารวมกันแล้ว คราวนี้มารวมกันเข้าเป็นใจ เมื่อมันเป็นประภัสสรมันรวมกันเป็นใจ ประภัสสรนั้นหมายความถึงจิตไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง จึงจะเห็นจิต เรียกว่าใจ ถ้าหากยังคิดนึกปรุงแต่งอยู่มันเศร้าหมอง ถ้าจิตผ่องใสแท้มันต้องสะอาดปราศจากความคิดความนึกความปรุงความแต่งจึงเรียกว่าใจ
เรามาพยายามขัดเกลากิเลสตรงนั้นแหละ ตรงอาคันตุกกิเลสอันนั้น ไม่ให้มันมีไม่ให้มันเกิดขึ้นในที่นั้น จึงจะรู้เห็นสิ่งต่างๆ คำว่าใสสะอาดมันก็เห็นนะซี มันจะไม่เห็นอย่างไร น้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ย่อมมองเห็นเงาตนเองได้ เพชรนิลจินดา เขาเจียระไนแล้วเป็นของใสสะอาด เพราะ เนื้อมันเป็นของใสมาแต่เดิม ถ้าหากเป็นเหล็กก็จะไม่ผ่องใสหรอก เพราะธรรมชาติ ไม่ใช่ของใสสะอาด จิตของคนเราเป็นของใสสะอาดมาแต่เดิม เหตุนั้นขัดเกลากิเลส ออกหมด มันจึงเห็นความใสสะอาด จึงเรียก ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ คราวนี้จะไม่เรียกว่าจิต จะเรียกว่าใจ เราเรียกธรรมชาติของที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ว่าใจ ในขณะที่เราทำความเพียรภาวนา ทำใจให้เป็น กลางๆ เฉยๆ สบาย มันก็ถึงใจ ความสบาย นั่นแหละเป็นใจ ความเฉยๆ นั่นแหละ เป็นใจ ไม่มีอดีตอนาคต ไม่มีบาปไม่มีบุญ ตัวเฉยๆ นั่นแหละ ไม่มีอะไรทั้งหมด ความคิดความนึกความปรุงความแต่ง มัน ออกไปจากใจ เรียกว่าจิต จิตคือผู้คิดนึก ปรุงแต่ง จิตเป็นคนสั่ง สารพัดทุกอย่างในโลก ส่วนใจสงบคงที่
เหตุนั้นพระพุทธศาสนาจึงสอนเข้าถึงใจ คือสอนถึงที่สุด คือเข้าถึงความบริสุทธิ์นั่นเอง สุดนั้นก็คือที่สุดของทุกข์นั่นเอง ถ้าเข้าถึงใจแล้ว ไม่มีทุกข์ไม่มีร้อน ไม่ปรุงไม่แต่ง ไม่คิดไม่นึก ก็หมดเรื่องเท่านั้นละ ถ้าปรุงแต่งก็จะไปกันมากมาย หลงใหลไม่มีที่สิ้นสุด เหตุฉะนั้น จึงว่าคนเราไม่เคยเห็นใจของตน แต่ไหนแต่ไรมา เกิดก็เกิดเพราะใจ เวลาตายก็ตาย เพราะใจปรุงแต่ง คิดนึกสารพัดทุกอย่าง คนทั้งหลายโดยส่วนมากพูดกันถึงเรื่องใจทั้งนั้น พุทธศาสนาก็พูดถึงเรื่องใจ ใจบุญ ใจกุศล ใจบาป ใจอำมหิต ใจคิดประทุษร้าย สารพัดทุกใจ พูดกันถึงเรื่องความดี ความงาม ก็ใจบุญ ใจกุศล ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ พูดถึงเรื่องใจอันเดียว
ใจต้องเป็นอันเดียวไม่ใช่หลายอย่าง ที่หลายอย่างนั่นน่ะมันจิตต่างหาก พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงตัวหนึ่ง ตัวใจนี่แหละ จึงจะเห็นเรื่องทั้งหลายทั้งหมด ถ้าไม่เห็นตัวหนึ่งแล้วก็ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งนั้น อย่างเรานับหนึ่งขึ้นเบื้องต้น นับหนึ่งเสียก่อน หนึ่งสองหน ก็เป็นสอง หนึ่งสามหนก็เห็นสาม สี่หน ห้าหน จนถึงเก้าหน สิบหน ก็เป็นสี่ ห้า จนถึงเก้า ถึงสิบ ก็มาจากหนึ่งอันเดียวนั่นแหละ จะนับเป็นสิบเป็นร้อย แท้ที่จริงก็นับจากหนึ่งอันเดียวเท่านั้น คนเราลืมหนึ่งเสีย ไปนับสอง สาม สี่ ห้า ถ้านับหนึ่งแล้วหมดเรื่อง เหตุนั้นการทำสมาธิภาวนาคุมจิตให้ถึงใจรวมเป็นหนึ่งนี่แหละ พระพุทธศาสนาสอนอย่างนั้น สอนใจอย่างเดียว คนส่วนมากเห็นว่าการทำสมาธิภาวนาไม่ใช่หน้าที่ของฆราวาสเป็นเรื่องของพระ พระบางท่านบางองค์ ก็ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราหรอก เป็นเรื่องของพระกัมมัฏฐาน แท้ที่จริงคนเรามีใจด้วยกันทุกคน ใครเข้าหาใจได้แล้วก็เป็น กัมมัฏฐานด้วยกันทั้งนั้นแหละ เป็น ภาวนา สมาธิแล้วทั้งนั้น เว้นไว้แต่เรา ไม่ทำ
อธิบายถึงเรื่องใจ ให้ค้นหาใจ ให้ พิจารณาเข้าถึงใจ ขอยุติเพียงเท่านี้
(หลวงปู่อบรมนั่งสมาธิ)
บุญนั้นมีหลายอย่าง คือทำบุญอย่างหนึ่ง ทำทานอย่างหนึ่ง ทำกุศลอย่างหนึ่ง ทำทาน คือการที่เราให้ เรียกว่า “ทาน” ทานํ เทติ วัตถุสิ่งของที่เราให้ เรียกว่า ทาน ไม่ต้องเลือกว่าจะเป็นสิ่งอะไร มนุษย์สัตว์ให้ไปได้ทั้งนั้น ข้าวของอะไรก็ให้ได้ เรียกว่าให้ทาน จะเกิดศรัทธาหรือไม่เกิดศรัทธาก็เอาเถอะ ให้ทั้งนั้น อย่างคำว่าเรี่ยไรอย่างนี้ ไม่คิดถึงบุญถึงกุศล ให้ไปเสีย แก้รำคาญ อันนั้นละเรียกว่าทาน ทำบุญนั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใส ตั้งเจตนาว่าทำบุญแล้วจะได้บุญ ได้อานิสงส์ จะไป เกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า จะได้ความสุขในมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ การทำบุญนั้นปรารถนาผลตอบแทน เรียกว่า ทำบุญ ทำกุศล คือจิตที่จะทำสิ่งที่ดีที่ชอบ นึกถึงความดีความชอบต่างๆ เป็นกามาวจรกุศล ถ้าคิดพิจารณากัมมัฏฐาน สังขารร่างกายของเรา เรียกว่า รูปาวจรกุศล จิตที่พิจารณาอยู่ในอรูปฌาน ๔ เป็นอรูปาวจรกุศล
“โลกุตรกุศล” หมายถึงการบำเพ็ญกุศลที่ปราศจากความอยากกังวลทั้งหมด แต่ว่าทำเพื่อประดับใจของตนเท่านั้น ไม่ได้ปรารถนาอะไรเลย คือผู้ที่ถึงมรรคผลนิพพานสูงสุดแล้ว ท่านไม่มีบาปไม่มีบุญอะไรหรอก แต่ว่าทำไปเพื่อประดับในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เหตุนั้น เราทำทานแล้ว ทำบุญแล้ว แล้วก็ทำกุศลอีกคือนั่งภาวนา นี่แหละ เป็นของสูงโดยลำดับ เพราะฉะนั้น จึงพากันตั้งใจทำสมาธิภาวนาให้มันแน่วแน่ ให้จิตมันลงหนึ่ง ปล่อยวางหมดทุก สิ่งทุกอย่างในเวลานี้ ของที่ล่วงมาแล้วอย่าไปคิดนึกถึงมันเลย ส่วนอนาคตข้างหน้าก็ไม่ต้องเอามาคำนึงถึง เอาปัจจุบันเดี๋ยวนี้แหละให้แน่วแน่ลงเต็มที่ มันจะลงได้ด้วยประการใดก็ให้มันลงเถอะ
เบื้องต้น ให้มีบริกรรมภาวนาพุทโธ หรืออานาปานสติ หรือยุบหนอพองหนออะไรก็ตาม สัมมาอรหังก็ช่าง ขอให้เอาคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์ เมื่อจิตมันรวมลงไปแล้วนั่น ก็จะปล่อยวางคำบริกรรมหมด วางเอง ถึงไม่วางก็ต้องวาง กำหนดเอาความที่มันนิ่งแน่วอยู่เป็นหนึ่ง นั่นแหละ เห็นใจเรานั่นแหละเป็นของสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเห็นใจของเรานี้เป็นของเลิศประเสริฐ เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้รู้จักเรื่องของตน ถ้าไม่เห็นเรื่องไม่เห็นใจของตนแล้ว ทำดีทำชั่วก็ไม่รู้ ทั้งนั้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก