วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความโกรธ

สาเหตุที่ทำให้โกรธมีมากมาย เช่น ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถูกหักหลังรังแก ถูกปัดแข้งปัดขา ถูกข้ามหน้าข้ามตา ถูกด่าว่าเสียหาย ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกติฉินนินทา ฯลฯ สาเหตุแม้จะมีมากจนดูเหมือนว่าไม่อาจจะบรรยายได้หมด แต่ในอาฆาตวัตถุสูตร (๒๔/๗๙) กล่าวว่า 

             สาเหตุแห่งความอาฆาตหรือความโกรธมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ 
             ๑. เขาเคยทำความเสียหายให้แก่เรา
             ๒. เขากำลังทำความเสียหายให้แก่เรา
             ๓. เขาจะทำความเสียหายให้แก่เรา
             ๔. เขาเคยทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก
             ๕. เขากำลังทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก
             ๖. เขาจะทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก
             ๗. เขาเคยช่วยเหลือคนที่เราชัง
             ๘. เขากำลังช่วยเหลือคนที่เราชัง
             ๙. เขาจะช่วยเหลือคนที่เราชัง
             ๑๐. โกรธโดยไร้สาเหตุ (โกรธแม้สิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ)

ลำดับขั้นของความโกรธ
ในพระไตรปิฎก (๒๙/๓๘๔) พระสารีบุตรได้แสดงขั้นตอนของความโกรธอย่างละเอียดดังนี้

              ๑. ทำจิตให้ขุ่นมัว
              ๒. ทำให้หน้าเง้าหน้างอ หน้าบูดหน้าเบี้ยว
              ๓. ทำให้คางสั่น ปากสั่น
              ๔. เปล่งผรุสวาจา (คำหยาบ) 
              ๕. เหลียวดูทิศต่าง ๆ เพื่อหาท่อนไม้
              ๖. จับท่อนไม้และศาสตรา
              ๗. เงื้อท่อนไม้และศาสตรา
              ๘. ให้ท่อนไม้และศาสตราถูกต้อง (ผู้อื่น)
              ๙. ทำให้เป็นแผลเล็กแผลใหญ่
              ๑๐. ทำให้กระดูกหัก
              ๑๑. ทำให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไป
              ๑๒. ทำให้ชีวิต (ผู้อื่น) ดับ
              ๑๓. ฆ่าผู้อื่น แล้วจึงฆ่าตน (ความโกรธขั้นสูงสุด)


 


พุทธวิธีชนะความโกรธ

            บุคคลในโลกนี้ บางคนเป็นคนจู้จี้ขี้บ่นขี้โมโห ชอบเอาแต่ใจตัวเอง อ่อนไหวง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย โกรธง่ายแม้ในเรื่องเล็กน้อยไร้สาระ โกรธไปหมดถึงลมฟ้าอากาศและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ดังสำนวนที่ว่า ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า แต่หายเร็ว เหมือนรอยขีดในดิน เมื่อถูกน้ำเซาะหรือลมพัด ก็เลือนหายได้ง่าย

           บางคนเป็นคนช่างจดช่างจำ ใครทำอะไรล่วงเกินไว้พอที่จะให้อภัยได้ก็ไม่ยอมให้อภัย ซ้ำยังเก็บความขัดเคืองนั้นไว้ในใจไม่ยอมลืมง่าย ๆ เหมือนรอยขีดในหิน จะขีดเล็กหรือใหญ่ แม้จะถูกน้ำเซาะหรือถูกลมพัด ก็ไม่เลือนหายง่าย ๆ เคยมีบางคนโกรธกันแต่หนุ่มจนแก่ไม่ยอมพูดกันเลย

           บางคนเป็นคนเจ้าโทสะอย่างมาก ถ้าใครทำให้ไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องตอบโต้ทันที ถ้ายังไม่ได้ช่องก็ผูกใจเจ็บไว้ว่าจะแก้แค้นในวันหน้า เรื่องการให้อภัยไม่ต้องพูดถึง
สำหรับเราชาวพุทธก็มีวิธีการที่จะเอาชนะ ระงับหรือบรรเทาความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท โดยนำเอาคำสอนที่ว่าด้วยความโกรธ หรือประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ที่ได้ผจญกับความโกรธของบุคคลหลายจำพวก มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ในที่นี้จะขอเรียกวิธีการหรืออุบายเหล่านี้ว่า พุทธวิธีชนะความโกรธ ซึ่งมีรูปแบบต่าง ๆ กันดังนี้
ช้างกลางสงคราม

          เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงโกสัมพี พระนางมาคันทิยา อัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ซึ่งผูกอาฆาตในพระศาสดา เพราะบิดาเคยยกนางให้พระศาสดา แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยความแค้นที่ฝังใจ พระนางทรงจ้างพวกชาวเมืองรวมทั้งทาสและกรรมกร รับสั่งว่า พวกท่านจงด่าบริภาษพระสมณโคดม (ชื่อที่พวกลัทธิอื่นเรียกพระพุทธเจ้า) ผู้เสด็จเข้ามาในเมืองให้เตลิดหนีไป

          เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามาในเมือง พวกมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเหล่านั้น ได้ติดตามด่าพระศาสดาด้วยคำด่า (ที่นิยมด่ากันในสมัยนั้น) ๑๐ (เจ้าเป็นโจร พาล บ้า อูฐ วัว ลา สัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้าหวังได้ทุคติอย่างเดียว)

          ท่านพระอานนท์ฟังคำนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระศาสดา
            อ. ชาวเมืองเหล่านี้ด่าว่าพวกเรา พวกเราควรไปที่อื่น
            ศ. ไปไหน อานนท์
            อ. ไปเมืองอื่น 
            ศ. เมื่อพวกชาวเมืองนั้นด่าอีก เราจักไปที่ไหนกันเล่า อานนท์
            อ. ออกจากเมืองนั้น ไปเมืองอื่น
           ศ. อานนท์ การกระทำอย่างนี้ไม่ควร เรื่องเกิดขึ้นในที่ใด เมื่อมันสงบในที่นั้นแล จึงควรไปที่อื่น อานนท์ ก็พวกที่ด่าเป็นพวกไหนเล่า 
            อ. พวกชาวเมืองตลอดจนทาสและกรรมกรพากันมาด่า
           ศ. อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้างที่เข้าสู่สงคราม การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก ๔ ทิศ เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม ฉันใด การอดทนต่อถ้อยคำที่คนทุศีล (ไม่มีศีล) เป็นอันมากกล่าวแล้ว เป็นภาระของเรา ฉันนั้น เราจักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน ดังช้างศึกที่อดทนต่อลูกศร เพราะคนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล บุคคลผู้อดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

            การตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง ฉันใด เมื่อฝ่ายตรงข้ามสงบนิ่ง ทำหูทวนลมเสีย การด่าอยู่แต่ฝ่ายเดียวก็ไร้ประโยชน์ ฉันนั้น พวกปากรับจ้างด่าจนเมื่อยปาก ก็เกิดความเบื่อหน่าย เลิกด่าไปเอง เรื่องก็สงบลงใน ๗ วัน 

                                                              (อรรถกถาธรรมบท ภาค ๒ เรื่องนางสามาวดี)
เราเหมือนช้าง กลางสงคราม สนามรบ ทนประสบ แม้ถูก ซึ่งลูกศร
จะทนคำ ล่วงเกินแท้ นั้นแน่นอน คนมากค่อน ข้างยึด ประพฤติทราม
                                                                                                      (อ. เสาวดี)

           เขาด่าว่าเราอย่างหยาบคาย ด้วยเรื่องไม่จริง และโดยกาลอันไม่สมควร เขาเองควรจะเดือดร้อน (ด้วยความต่ำทราม ความโกหกตอแหล และความไม่รู้จักกาลเทศะของเขา) ไม่ใช่เราเดือดร้อน
                                                                                     (โจทนาสูตร ๒๒/๑๖๗)

            เมื่อบุคคลไปอยู่ในต่างถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก ไม่ควรจะถือตัว (ว่าเราเป็นกษัตริย์ เป็นผู้มีศีล จะมาพูดหรือแสดงอาการไม่เคารพอย่างนี้กับเราไม่ได้) พึงอดทนแม้จะเป็นคำขู่ตะคอกของทาสก็ตาม และควรสร้างฉางใหญ่ไว้สำหรับเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย
                                                                                   (ทัททรชาดก ๒๗/๕๑๕)

 

1 ความคิดเห็น:

เวลา 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 00:35 , Blogger บุญถมเสียงธรรม กล่าวว่า...

ขออนุโมทนา ชื่นชมๆๆ

 

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก