เคล็ดไม่ลับการทำสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ๒
จากพระสุตันตปิฎก ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้
[๑๐๐] เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถ้อยกำลังนี้ได้แล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
จากข้อความตรงนี้ ปฐมฌาน หรือฌาน 1
วิตก คืออุบายในการทำให้จิตจดจ่อ อาจจะมีการบริกรรมภาวนาต่างๆ หรือไม่มีการบริกรรมภาวนา หรือดูตามอาการที่เกิดตามเป็นจริง เช่น อาการของท้องพองหรือ ยุบ ตามลมหายใจเข้าและออก หรือจะดูเพียงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอย่างเดียวก็ได้
( ธรรมชาติของร่างกาย เวลาหายใจเข้า ท้องจะพอง เวลาหายใจออก ท้องจะแฟ่บหรือยุบ ) หรือการเพ่ง จับจ้อง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ( เช่น กสิณต่างๆ )
วิจาร คือ อาการที่จิตจดจ่อ อยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง
ปีติ มีอาการที่เกิดแตกต่างกันไป
1.ขุททกาปีติ มีอาการเยือกเย็นจนขนลุกขนพอง ผู้ปฏิบัติมักมีอาการขนลุกจนซู่ซ่า ขึ้นตามตัวและศรีษะ
2.ขณิกาปีติ มีอาการคัน เหมือนมดไต่ ไรคลาน ยุบๆยิบๆ ตามหน้าและตามตัว
3.โอกกันติกาปีติ มีอาการเหมือนโต้คลื่น ตัวโยก ตัวโคลง
4.อุพเพงคาปีติ มีอาการเหมือนตัวเบา ตัวลอยสูงขึ้น บางครั้งมีอาการสัปหงก โงกข้างหน้า โงกข้างหลัง
5.ผรณาปีติ มีอาการเย็นซาบซ่าน วูบวาบไปทั่วกาย
สุข เมื่อเกิดปีติ สุข ย่อมตามมา
อุปสรรคในการฝึกสมาธิ
นิวรณ์ เป็นอุปสรรคโดยตรงของการฝึกสมาธิ เพราะจิตที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ ย่อมไม่สามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ในอกุสลราสีสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ได้กล่าวถึงนิวรณ์ว่าเป็นกองอกุศล ดังพุทธพจน์ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง กล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นนี้ได้แก่ นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน?
คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิกิจฉานิวรณ์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕
( พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ ๒๕๒๕:๑๑๖ )
กามฉันทะ ความพอใจในกาม ความต้องการกามคุณ จัดเป็นโลภะ
พยาบาท ความคิดร้าย จัดเป็นโทสะ
ถีนมิธทะ ความหดหู่ ความเซื่องซึม
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน และความร้อนใจ
วิกิจฉา ความลังเล สังสัย
(อันนี้ขอเสริม จากประสพการณ์โดยตรง คือ ให้เราระลึกไว้อยุ่เสมอว่า หน้าที่เราคือทำอะไร ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยุ่ ให้เอาจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ อย่าไปส่งจิตออกนอก นอกอะไร นอกกายนั่นเอง
เพราะการทำสมาธิ เป็นเรื่องของกายและจิต ซึ่งมีสติ สัมปชัญญะ ประกอบอยู่ด้วยตลดเวลา หากบางครั้ง ขณะที่ปฏิบัติอยู่ อาจจะมีจิตฟุ้งซ่าน ไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ก็ให้เอาสติจับกลับมารู้ที่กาย ว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือกลับมาจับที่องค์บริกรรมภาวนา หรือหายใจให้ยาวๆ เพื่อจะได้สติรู้ตัว ว่ากำลังฟุ้งแล้วนะ มันออกไปนอกตัวแล้วนะ ทำบ่อยๆจิตมันจะค่อยๆสงบลงไป )
นิมิต
ขณะที่ทำสมาธิ อาจจะเห็นภาพ หรือมีภาพต่างๆเกิดขึ้น ไม่ต้องไปสนใจหรือให้ค่าให้ความหมายในสิ่งที่เห็น เพราะเมื่อเราไปให้ค่า ให้ความหมายในสิ่งที่เห็น ต่อมเอ๊ะ จะถูกทำงานทันที ต่อมเอ๊ะก็คือ ความสงสัย
เมื่อความสงสัยเกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดขึ้นไม่รู้จบ จะต้องคอยเทียวไปถามหาคำตอบ ถาม 100 คนก็ได้ 100 คำตอบ เพราะคำตอบแต่ละคำตอบก็อยู่ที่คนจะให้ค่าให้ความหมายในสิ่งที่เห็นนั้นๆ
การปฏิบัติแทนที่จะก้าวหน้าต่อไปก็เลยสะดุด หยุดไปชั่วคราว บางคนก็หยุดยาวไปเลย เพราะมัวค้นหาคำตอบ กลับมารู้ที่กาย บางคนก็ไปสวรรค์นรกทางนิมิต สุดท้ายการปฏิบัติเลยไม่ก้าวหน้า ติดอยู่แค่นิมิต
เมื่อเกิดนิมิต
คือ ไม่ต้องไปสงสัยในสิ่งที่เห็น อาจจะกำหนดตามสิ่งที่เกิดหรือที่เห็น คือ เห็นหนอๆๆ หายใจยาวๆ รู้หนอๆๆๆ หายใจยาวๆ โดยใช้จิตกำหนด ไม่ใช้ปากกำหนด
หรือ เอาจิตปักที่ลิ้นปี่ หายใจยาวๆ กำหนดรู้หนอๆๆๆ คือสักแต่ว่ารู้ แต่ไม่ให้ค่าหรือความหมายในสิ่งที่รู้หรือเห็น
หรือ กลับมารู้ที่กาย โดยการดูอาการของท้องพอง ยุบ หรือหายใจยาวๆเพื่อจะได้มีสติรู้ตัว นิมิตนั้นก็จะดับไป บางคนก็ไปสวรรค์นรกทางนิมิต สุดท้ายการปฏิบัติเลยไม่ก้าวหน้า ติดอยู่แค่นิมิต
โอภาส
บางคนเห็นแสงสีต่างๆ หรือความสว่างเจิดจ้ามากๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงสี หรือแม้แต่จะความสว่างมากหรือน้อย ก็ไม่ต้องไปสนใจ ให้กลับมารู้ที่กาย โดยเอาสติเข้าจับความรู้สึกว่า ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังส่งจิตออกนอก ไปสนใจสิ่งนอกตัว ให้กลับมารู้ที่กาย วิธีแก้ ก็ทำแบบเดียวกับการเกิดนิมิต
ปีติ สุข
ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดสมาธิ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น อย่าไปดื่มด่ำหรือซึมซับอารมณ์ตรงนั้น ให้กลับมารู้ที่กาย วิธีแก้ ก็ทำแบบเดียวกับเวลาเกิด นิมิต เกิดโอภาส เพราะสิ่งเหล่านี้ มีผลต่อการเจริญสมาธิในขั้นต่อไป
หากยังละสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ สมาธิจะก้าวหน้าถึงจตุตถฌาน ไม่ได้ เพราะแต่ละขั้น มีแต่จะละไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีแต่สภาวะปรมัติล้วนๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะไม่มีเหลือในจตุตถฌาน
จะมียกเว้นคือ โอภาส ที่จะเจอบ่อยมากที่สุด ยิ่งกำลังสมาธิมีมากเท่าใด โอภาสยิ่งสว่างมากขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้า สติ สัมปชัญญะดี โอภาสจะหายไปเอง
สิ่งเหล่านี้ ถ้าสามารถผ่านไปได้ อย่างน้อยเมื่อเข้าสู่วิปัสสนาญาณบังเกิด จะได้ไม่ไปติดอยู่ที่อุปกิเลส ๑๐
วิธีปรับอินทรีย์
ไม่ต้องไปอยากให้สภาวะเหล่านี้หาย บางคนอยากให้หาย เพราะรู้ว่าเป็นอุปกิเลส ยิ่งอยากให้หายมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่หาย
ให้ดูตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ให้ค่าได้ เพราะสติยังไม่ทัน ให้ค่าก็รู้ว่าให้ค่า แต่อย่าไปยึดติดในสภาวะที่เกิดขึ้น
แล้วเจริญสติต่อไป ทำต่อเนื่อง แล้วสภาวะต่างๆนี้จะหายไปเอง!!
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]
<< หน้าแรก