หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตัณหา 3

ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากได้ ความดิ้นรน ความปรารถนา ท่านจำแนกไว้เป็น 3 ระดับ คือ 

1. กามตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารัก น่าใคร่ ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ อันยังไม่ได้ และหมกมุ่นในวัตถุกามที่ได้แล้ว อาการเหล่านี้เรียกว่า เป็นกามตัณหา

2. ภวตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เช่นอยากไปเกิดในภพในชาติที่ประณีต ที่ตนเห็นว่าเป็นความสุข ความเพลิดเพลิน ด้วยเข้าใจว่าสภาพเหล่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ และตนเองก็ปรารถนาสภาวะเหล่านั้น ภพเหล่านั้น ชาติเหล่านั้น จนต้องดิ้นรนทะเยอทะยายอยากได้นี้เรียกว่า ..ภวตัณหา

3. วิภวตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยากในวิภพ ความไม่อยากเป็นอย่างนั้น..อย่างนี้ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย เป็นอาการที่จิตยินดีพอใจในสภาวะ ความไม่เป็นต่างๆ หรือความพอใจในความไม่เกิดในภพ โดยมองเห็นสิ่งทั้งหลาย เป็นของที่ขาดสูญ ไม่มีการสืบต่อ ตนเองก็ต้องการขาดสูญ ต้องการจะหมดสิ้นไป อาการของความคิดในลักษณะนี้ ชื่อว่า.. วิภวตัณหา

ตัณหาสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒

[๓๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ และมานะ ๓ ควรละตัณหา ๓ เป็นไฉน คือ กามตัณหา ๑   ภวตัณหา ๑   วิภวตัณหา ๑   ตัณหา ๓ นี้ควรละ
มานะ ๓   เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา ๑   ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา ๑   ความถือตัวว่าดีกว่าเขา ๑   มานะ ๓ นี้ควรละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ตัณหา ๓ และมานะ ๓ นี้ย่อมเป็นธรรมชาติ อันภิกษุละได้แล้ว
เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหา ขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว
ได้กระทำที่สุดทุกข์เพราะละมานะได้โดยชอบ ฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น